Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ
image

ประวัติ พัฒนาการของมหาวิทยาลัย

          มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงและวิทยาลัยวิชาการศึกษา สถาปณาโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง พุทธศักราช 2492 วิทยาลัยวิชาการศึกษา พุทธศักราช 2496 และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2517 ในการนี้หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รวบรวมบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มาบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้ที่สนใจได้รับชม

ที่มาและจุดเริ่มต้น

          "ขอให้ทำงานนี้ต่อไปให้สำเร็จ อย่าทิ้งเรื่องนี้เป็นอันขาด" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระราชดำรัสแก่ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เรื่องการฝึกหัดครู เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2489 อันเป็นที่มาของการมุ่งมั่นในการวางรากฐานการศึกษาและการฝึกหัดครู จนถือกำเนิดโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงในกาลต่อมา

          ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ณ เวลานั้น เจรจาขอซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ในราคาตารางวาละ 38 บาท ปัจจุบันราคาประเมินที่ดิน อ้างอิงตามเว็บกรมธนารักษ์ ที่ดินถนนอโศกมนตรี ตารางวาละ 550,000 บาท ที่ดินมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ประมาณ 100 ไร่ มากกว่า 30 ล้าน ประมาณ 700 เท่า

image
ประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เปิดโรงเรียนฝึกหัดครูที่ถนนประสานมิตร

โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง

          มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ถือกำเนิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในกระแสสังคมที่เริ่มคลี่คลายจากการตื่นตระหนกภัยสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อมุ่งเน้นความสมานฉันท์และผลักดันความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การผลักดันทางด้านการศึกษาเพื่อให้โลกใบนี้เจริญก้าวหน้าและมีสติปัญญามากขึ้น “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2492 ณ ถนนประสานมิตร กรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดันการศึกษาทางด้านวิชาชีพครูในช่วงเวลาที่วิชาชีพครูขาดแคลนและไม่สมดุลกับการขยายตัวของสังคมและศาสตร์ทางด้านการศึกษายังใหม่ต่อสังคมในขณะนั้น เป็นการเริ่มต้นการศึกษาในระดับวุฒิประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา และประกาศนียบัตรครูมัธยมศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในขณะนั้นและท่านก็ได้มีบทบาททาง ด้านการศึกษาทั้งที่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง วิทยาลัยวิชาการ และสังคมไทย

image
ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

          ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้มีคุณูปการแก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้ก่อกำเนิดสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง และได้ส่งเสริมสนับสนุนในทุกทางให้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาจนเป็นแหล่งผลิตครูปริญญา เป็นผลงานที่สร้างประโยชน์แก่วงการการศึกษาของประเทศอย่างกว้างขวาง ตราบจนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และได้รับพระราชทานนามให้เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผลิตดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 

          นอกจากการผลิตครูซึ่งทำมาเป็นเวลานาน ท่านเห็นความสำคัญของการสร้างคนด้วยการสร้างครู ถ้าครูดีนักเรียนก็ย่อมจะดีด้วย แนวความคิดนี้จะสะท้อนให้เห็นจากบทประพันธ์สั้น ๆ ของท่านบทหนึ่งที่ชื่อว่า “สิ้นฝีมือ” ดังนี้

“ศิลปินสิ้นฝีมือมิสามารถ
ที่จะวาดภาพงามกว่านี้ได้
คือภาพเด็กที่กำลังเจริญวัย
กับครูที่อิ่มในวิทยา”

          ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2530 ด้วยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานประพันธ์รวม 207 เรื่อง โดยเกียรติประวัติ เกียรติคุณ และจริยธรรมนำชีวิต ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นักการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และสื่อสารระดับโลก องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ประกาศยกย่องและสดุดี ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นบุคคลสำคัญ ผลงานดีเด่นระดับโลก ในวโรกาส 100 ปี วันที่ 24 ตุลาคม 2546 จิตวิญญาณความเป็นครูในหัวใจของ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ไม่เคยเลือนลับดับหาย แม้ตัวท่านได้จากพวกเราไปแล้ว “เสียงครู” ยังคงติดตรึง กึกก้องอยู่ในมโนสำนึก ให้ดำเนินตามรอยบูรพาจารย์เยี่ยงท่าน

          เมื่อโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ระหว่างพุทธศักราช 2492 -  2496 ท่านเป็นผู้นำและผู้วางรากฐานระเบียบแบบแผนของการฝึกหัดครู เป็นผู้บุกเบิกงานวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น แบบแผนของปูชนียบุคคลในวิชาชีพครูอย่างสูงยิ่ง

ผู้อำนวยการคนแรก หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ

           หลังจากที่ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงขึ้นมาแล้วนั้น สิ่งสำคัญต่อมาที่ต้องทำ คือ การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อมาบริหารโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงนี้ ในที่สุด ท่านจึงได้เลือกข้าราชการผู้มีความสามารถท่านหนึ่งนั่นคือ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงเป็นคนแรกและคนเดียว (เพราะหลังจากนั้นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงก็ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวิทยาลัยวิชาการศึกษา)

image
หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิสามัญศึกษา

         เนื่องจากท่านจบการศึกษามาจากสหราชอาณาจักรทำให้ท่านมีความเป็นสุภาพบุรุษตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษติดตัวมาด้วย ดังจะเห็นได้จากที่ อาจารย์ หทัย ตันหยง บันทึกไว้ว่า "หลวงสวัสดิฯ ท่านเป็นผู้รักษาระเบียบวินัย เคร่งครัด ตรงต่อเวลา รับผิดชอบ มีน้ำใจหนักแน่นและทำประโยชน์ให้ส่วนรวม กิจวัตรประจำวันที่ท่านวางไว้ให้นักเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง คือ การตื่นนอนแต่เช้าเพื่อมากายบริหาร เสร็จแล้วจึงไปเรียนก่อน 1 ชั่วโมง แล้วค่อยมารับประทานอาหารเช้า แล้วกลับไปเรียนต่อจนถึงเย็น ก่อนนอน สามทุ่มครึ่งก็ต้องสวดมนต์" แม้จะมีเชื้อฝรั่ง แต่อาจารย์หทัยก็บอกว่า "แม้จะดูกลัว ๆ เพราะหน้าตาท่านเป็นฝรั่งชัด ๆ แต่พอใกล้ชิดแล้วเหมือนพระหลวงตาใจดี พูดช้า ๆ เมตตาพวกเรา ที่น่าแปลกใจคือ ท่านเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัดในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง"

วิทยาลัยวิชาการศึกษา

          ช่วงทศวรรษ 2490 ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่าในช่วงก่อนหน้านั้นจะมีมหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาอาชีพต่างๆ แล้ว และมีการเรียนการสอนวิชาชีพครูในบางแห่ง แต่ไม่มีที่ใดเลยให้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญา นั่นจึงส่งผลให้บรรดาผู้ปกครองไม่สนใจจะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสาขาทางด้านการศึกษา และส่งผลต่อเนื่องไปถึงครูที่จบออกมาก็ไม่มีคุณภาพซึ่งจะต้องออกไปสอนในระดับประถม - มัธยม ก่อนหน้านั้นผู้ที่จบครูจะได้วุฒิประโยคครูประถมหรือมัธยมซึ่งต่ำกว่าระดับปริญญา ทำให้ผู้ที่สนใจจะเรียนครูมีน้อย ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวงการศึกษาไทย

image
ประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เปิดวิทยาลัยวิชาการศึกษา ที่ถนนประสานมิตร

         ถึงพุทธศักราช 2496 ปัญหาการขาดแคลนครูและนักการศึกษาเป็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นในสังคมไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุก ๆ ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ผู้นำการศึกษาสมัยใหม่หรือผู้นำการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ในสังคมไทย ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ให้ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of Education) ขึ้นเพื่อพัฒนาปรัชญา แนวคิดและความรู้ความสามารถทางด้านการศึกษาสมัยใหม่ ให้สอดคล้องผสานสัมพันธ์กับสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาศาสตร์ให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผนและมีความลุ่มลึกในสังคมไทย พร้อมกับการประสาทปริญญา ทางด้านศึกษาศาสตร์ ทั้งในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เมื่อแรกเริ่มการสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้นแทน โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงนั้น (16 กันยายน 2497) ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในระหว่างพุทธศักราช 2497–2499 ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะวิชาการศึกษาหลังจากนั้นจึงได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยวิชาการศึกษา จนถึงพุทธศักราช 2511

image
บริเวณประตูหน้าวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร
image
บริเวณประตูหน้าวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน

          วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้เป็นผู้นำในการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายใต้แนวคิดระบบโรงเรียนสาธิต (Demonstration School) เพื่อให้ โรงเรียนสาธิตเป็นแปลงทดลองค้นคว้า ในระบบการศึกษาพื้นฐานสมัยใหม่ วิทยาลัยวิชาการศึกษาจัดระบบการศึกษาแบบวิทยาเขต โดยขยายวิทยาเขตปทุมวัน (2498) วิทยาเขตบางแสน (2498) วิทยาเขตพิษณุโลก (2510) วิทยาเขตมหาสารคาม (2511) วิทยาเขตสงขลา (2511) วิทยาเขต พระนคร (2512) และวิทยาเขตพลศึกษา (2513) โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหาร

          วิทยาลัยวิชาการศึกษา ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ในฐานะที่ท่านเป็นนักวิชาการและนักการศึกษาสมัยใหม่ ได้พัฒนาแนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยมและการเรียนการสอนสมัยใหม่จากสังคมตะวันตก นำมาวางหลักปักฐานไว้ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบห้องสมุด ระบบคะแนน ระบบการวัดผล รวมทั้งวิชาการ ศึกษาสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าที่สุดในสังคมไทยขณะนั้น นอกจากนั้นแล้ว วิทยาลัยวิชาการศึกษายังได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านบุคลากร หนังสือ และทุนการศึกษามากมาย จนอาจกล่าวได้ว่า วิทยาลัยวิชาการศึกษา มีระบบการศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุดในช่วงเวลานั้น ตราหรือเครื่องหมายของวิทยาลัย วิชาการศึกษา ซึ่งเป็นสมการทางด้าน คณิตศาสตร์ y=ex (Exponential Curve) เส้นกราฟของการขยายเพิ่มขึ้น มีความหมายสอดคล้องปรัชญาที่ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” หรือ สิกขา วิรุฬหิ สมปตตา” หรือ “ Education is Growth” รวมทั้งสอดคล้องกับ “สีเทา - แดง” ซึ่งสีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึง “ความคิด” และสีแดงเป็นสีของเลือด หมายถึง “ความกล้าหาญ” สีเทา - แดง จึงหมายถึง “คิดอย่างกล้าหาญ”

image
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี อธิการคนแรกของวิทยาลัยวิชาการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี

          ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี กล่าวถึงความยากลำบากในเรื่องนี้ไว้ดังปรากฏใน บทความเรื่อง "บทบาทของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรีในการเผยแพร่แนวความคิดแบบพิพัฒนาการนิยม" ใน "รายงานการวิจัยเรื่องศึกษาแนวคิดทางการศึกษาและบุคลิกภาพแห่งความเป็นครูของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี" (2536) ว่า
          "ขณะนั้นในหมู่ประชาชน ความคิดที่ว่าจะให้ครูเรียนถึงปริญญายังไม่มี ดังนั้น การเสนอให้ครูมีการศึกษาถึงระดับปริญญาเป็นของที่แปลกมาก อีกประการหนึ่ง จะให้สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยประสาทปริญญานี้ยังไม่มีคนเข้าใจ ฉะนั้นเมื่อกฎหมายไปถึงพรรคเสรีมนังคศิลา (พรรครัฐบาลในเวลานั้น)แล้ว ผมก็ต้องไปชี้แจงหนักหน่วงมาก เพราะท่านผู้แทนราษฎรสมัยโน้นเขาไม่เข้าใจเลยว่าวิทยาลัยอะไรให้ปริญญา เป็นครู เป็นศึกษาธิการอำเภอจะต้องเอาปริญญาเชียวหรือ??
           ผมก็ต้องชี้แจงมากมายว่าจะต้องขยายการศึกษา ผู้คนจะต้องไม่หนีไปจากอาชีพครูหรีออาชีพบริหารการศึกษาเรื่องนี้สำคัญมาก ต้องดึงเขาเข้ามา ทั่วโลกเขาก็ทำกันแล้ว ชี้แจงให้เห็นว่าการศึกษาขั้นสูงนั้นทำได้ทั้งที่เป็น university และ college ในประเทศอเมริกาทำกันมากมาย ในอังกฤษก็ทำ"

          ที่สุดหลังชี้แจงเหตุผลแก่คณะรัฐบาล ในวันที่ 16 กันยายน 2497 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้น วิทยาลัยวิชาการศึกษาจึงถูกสถาปนาขึ้นมาในบริเวณเดียวกับโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการศึกษาให้ถึงระดับปริญญา นิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาจะได้วุฒิการศึกษาเป็นการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) จากวันนั้นจนถึงวันนี้ วุฒิ กศ.บ. จึงเป็นวุฒิการศึกษาที่มีอายุถึง 73 ปีแล้ว

อัตลักษณ์ มศว : ตราและสี

          เมื่อก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงใหม่ ๆ สมัยนั้นยังไม่มีตราของโรงเรียน จนเมื่อมีการตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี จึงเป็นผู้คิดค้นตรากราฟนี้ขี้น เรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในหนังสือศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี รำลึก (2537) ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช ให้สัมภาษณ์ว่า

image
ตราบนปกหนังสือที่ระลึก พิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2503,2507,2513
          "ตราของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ผมเป็นผู้คิดครับ ตอนนั้น เราเป็นสถานศึกษาใหม่ๆ สีก็ไม่มี ตราก็ไม่มี บังเอิญตอนเรียนปริญญาตรีผมได้เรียนคณิตศาสตร์ จึงรู้ว่ามีเส้นกราฟอยู่เส้นหนึ่ง สมการของมันก็คือ y=ex เวลา plot กราฟแล้ว เส้นกราฟจะขึ้นเรื่อยไม่มีวันลง ประดุจจรวดขึ้นไปในอวกาศ...

          ...ถ้าเป็นการศึกษาที่เป็นภาวะแล้ว ก็อาจพูดได้ว่า การศึกษาคือการงอกงาม งอกงามไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันรู้จักจบสิ้น...ผมก็นึกอยู่ในตอนนั้นว่า เอ! เราจะเอาเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นความงอกงามนั้นมาทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไรเพราะมันเป็นนามธรรมก็รำลึกได้ทันทีว่า ทางวิชาคณิตศาสตร์ที่ผมเรียน มันมีเส้นกราฟนี้อยู่แล้ว จึงตกลงใจเอาเส้นกราฟนี้เลย..."

          ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี จึงนำเรื่องนี้ไปอธิบายในที่ประชุมสภาของวิทยาลัยซึ่งมีศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อยู่ด้วย ท่านก็เห็นด้วย ที่ประชุมจึงมีมติให้ใช้ตรากราฟนี้เป็นตราประจำวิทยาลัยวิชาการศึกษา

image
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี อธิการคนแรกของวิทยาลัยวิชาการศึกษา

ปราชญ์ผู้ทรงศีล

          คำนี้ เป็นคำที่คณาจารย์ที่ได้เรียนกับศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี กล่าวยกย่องเอาไว้ เนื่องจากท่านเป็นผู้ประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพุทธศาสนา มาปรับใช้กับการเรียนการสอนในวิทยาลัย ขอยกตัวอย่างหนึ่ง คือ การนำหลักอริยสัจ 4 มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์

image
คติพจน์ของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี
ขั้นของอริยสัจ 4 ขั้นของวิธีทางวิทยาศาสตร์
ทุกข์ ปัญหา (Problem)
สมุทัย
สมมติฐาน (Hypothesis)
นิโรธ
ทดลองจนได้ผล (Experimenting)
มรรค
วิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data)
สรุปผล (Conclusion)

          นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบ คำว่า “ญาณ” ในทรรศนะของพุทธศาสนากับคำว่า insight ในทางจิตวิทยาไว้อีกด้วยเช่นกัน จากตัวอย่างที่ยกมาคือการแสดงให้เห็นถึงคำว่า “ปราชญ์ผู้ทรงศีล” ได้เป็นอย่างดี

          16 กันยายน 2567 ครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา และถ้านับรวมตั้งแต่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงจะมีอายุ 75 ปี สถาบันแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม หากศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรียังมีชีวิตอยู่ ท่านคงจะชื่นชมและยินดีที่สถาบันแห่งนี้มีความก้าวหน้า เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานครสมดังความตั้งใจของท่าน


ยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย

          แผนการผลักดันให้เกิดการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาของการขาดความคล่องตัวในการบริหารงานของวิทยาลัย อีกทั้งวิทยาลัยฯ มีศักยภาพในทางวิชาการอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร อธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาในขณะนั้น จึงได้ร่าง พ.ร.บ. ยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยเสนอต่อสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2512 ดังที่ปรากฏในคำปรารภของ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ ในเอกสารเผยแพร่ เพื่อให้สาธารณชนทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

image
การชุมนุมเรียกร้องการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อปี 2515

          “เมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อเดือนมกราคม 2512 ได้พบว่าการดำเนินงานของวิทยาลัยวิชาการศึกษาไม่มีความคล่องตัวเป็นอันมาก จึงได้ร่าง พ.ร.บ. ยกฐานะวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัย เสนอต่อสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2512 และรอรับฟังพิจารณาอยู่ 1 ปีเต็ม จนถึง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2513 จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ. นี้ต่อประธานสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะวิทยาลัยวิชาการศึกษา เป็น ‘วิทยาลัย’ ในความหมายในความเข้าใจของบุคคลทั่วไปว่าไม่ใช่สถานศึกษาชั้นปริญญาในระดับมหาวิทยาลัย ดังที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ดำเนินงานอยู่จริง จึงเห็นสมควรที่จะออกจดหมายฉบับนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลที่สนใจในการศึกษาขั้น ‘มหาวิทยาลัย’ ”

          พุทธศักราช 2516 ก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณาจารย์ นิสิต และข้าราชการ ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปรับฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัย ท่ามกลางการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงของรัฐบาลทหารในขณะนั้น เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการเรียนการสอนที่จำกัดไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยและการขยายตัวที่มีความหลากหลายวิชาชีพ ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร” ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในปีถัดมา (29 มิถุนายน 2517) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดี (พุทธศักราช 2512 – 2521)

image
เอกสาร ประกาศเรื่องฐานะของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปี 2517

          ด้วยความอดทนและมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานาประการ ในที่สุด วันที่ 6 มีนาคม 2517 สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ได้มีหนังสือแจ้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระปรมาภิไธยในขณะนั้น) โปรดเกล้าฯ พระราชทานมงคลนามว่า “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” หมายถึง มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานครและเข้าไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร จึงได้เป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

image
ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร กล่าวให้โอวาทกับนิสิต
image
ประชุมผู้บริหาร ในภาพคือ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ศาสตราจารย์ บุญถึง แน่นหน้า และ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร

         มหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการในรูปวิทยาเขตมาจนถึงปี 2533 รวมเวลา 16 ปี วิทยาเขตจึงเริ่มแยกออกไปเป็นมหาวิทยาลัยอิสระโดยมีการบริหารจัดการและ งบประมาณเป็นของตนเอง ดังนี้ ปี 2533 วิทยาเขตบางแสนและวิทยาเขตพิษณุโลก ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2536 ยุบรวม วิทยาเขตปทุมวัน บางเขน และประสานมิตรเข้าเป็นวิทยาเขตกลางปี 2537 วิทยาเขตมหาสารคาม ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และปี 2539 วิทยา เขตสงขลายกฐานะเป็นเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่ก็ขยายตัวไปที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ในปี 2539

           จากอดีตที่มีคณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย ช่วงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 5 (พุทธศักราช 2525 - 2529) จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 7 (พุทธศักราช 2535 - 2539) จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (พุทธศักราช 2540 - 2544) จัดตั้งคณะ สหเวชศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์

          มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร พัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยกลางเมืองที่ทันสมัยก้าวหน้าผสานสัมพันธ์กับกระแสสากล และพัฒนาการศึกษาในระดับ บัณฑิตศึกษา และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และผสานสัมพันธ์กับชุมชน

ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร

          ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มที่นำความเจริญมาสู่วงการการศึกษาของประเทศไทย ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งรองอธิการและหัวหน้าคณะวิชาการศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้ริเริ่มการสร้างและปรับปรุงหลักสูตรตามแบบการฝึกหัดครูสมัยใหม่ อีกทั้งวางรากฐานการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาให้ทันสมัย หลักสูตรดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับและใช้ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

          ในปี พ.ศ. 2512 เมื่อ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เข้ารับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา ด้วยความหนักแน่นในอุดมการณ์ทางการศึกษา ได้เล็งเห็นศักยภาพของวิทยาลัยวิชาการศึกษาซึ่งก้าวหน้าและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ประเทศชาติเป็นจำนวนมาก


image
ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร 

จากอำเภอวังน้อย มาสู่อำเภอองครักษ์

          ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เล็งเห็นถึงปัญหาความคับแคบของวิทยาเขตประสานมิตร และปัญหาวิทยาเขตอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ของหน่วยงานอื่น ท่านจึงเริ่มจัดหาพื้นที่ที่มีบริเวณมากพอที่จะรวมวิทยาเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกัน จึงเกิดโครงการยุบรวมวิทยาเขตต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไปอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกสั้น ๆ ว่า “โครงการวังน้อย” ที่ดินที่อำเภอวังน้อย เป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีเนื้อที่กว่า 3,500 ไร่ ขายให้แก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในราคา 12 ล้านบาท มีการจัดทำเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และวางผังไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ แม้ว่าโครงการดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะสาเหตุหลายประการ เช่น มีหลายฝ่ายต่อต้านคัดค้าน และไม่มีงบประมาณ

image
เอกสารคำปรารภของ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร
image
แผนพัฒนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตวังน้อย

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์

          ปี 2518 ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อรองรับการขยายตัวตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัย โดยพิจารณาที่ดินในจังหวัดนครนายก ซึ่งบริษัท ทำนาศีรษะกระบือ จำกัด ได้มอบที่ดินอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จำนวน 947 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา ให้แก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยนายอมร อนันตชัย นายอำเภอองครักษ์ เป็นผู้ประสานงาน ต่อมามหาวิทยาลัยได้ขยายพื้นที่โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร อนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 206 ไร่ 3 งาน 06 ตารางวา เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาต่อไป

image
อาคารหอพระ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ขณะกำลังก่อสร้าง เมื่อปี 2543

          ปี 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ขยายพื้นที่การศึกษาเพื่อความคล่องตัว ที่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก นำความเจริญก้าวหน้าสอดคล้องไปกับบริบทพื้นที่ขณะนั้น นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวและการขยายงานของมหาวิทยาลัยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 6 (พ.ศ. 2530 - 2534) และทิศทางของการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต จากยุคก่อตั้ง เข้าสู่ยุคเป็นมหาวิทยาลัยพหุศาสตร์ ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์ที่มีการจัดการศึกษาให้ครบถ้วนทุกสาขาวิชา ภายหลังจึงได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่งมาจนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างครบถ้วน จวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประกอบไปด้วยคณะวิชาทั้งสิ้นจำนวน 16 คณะ 5 วิทยาลัย และบัณฑิตวิทยาลัย

image
เอกสารและโฉนดที่ดินของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
image
ภาพมุมสูง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ขณะกำลังก่อสร้าง เมื่อปี 2543
image
การก่อสร้างอาคารหอพัก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ปี 2543-2544
image
ภาพมุมสูง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ปี 2564

เลือกรายการเพื่อไปยังหัวข้ออื่น


เรียบเรียงโดย

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2024 Copyright ICASWU
Back To Top