Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ
image

หลายเรื่องราวในถิ่นเทาแดง

          เรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายภายในรั้วเทาแดงแห่งนี้ เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่าโรงเรียน ก้าวเข้าสู่ความเป็นวิทยาลัย และเติบโตขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย ควรค่าแก่การจดจำและการเรียนรู้ ก่อให้เกิดเป็นความภาคภูมิใจ กลายเป็นความทรงจำ นำไปสู่เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ ของรั้วเทาแดงแห่งนี้

ต้นราชพฤกษ์ทรงปลูก รัชกาลที่ 10

          วันที่ 9 มกราคม 2529 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานรวมใจศรีนครินทร และทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ ต้นไม่ประจำมหาวิทยาลัย บริเวณริมสนามฟุตบอล ปัจจุบันอยู่บริเวณด้านข้างคณะสังคมศาสตร์

image
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์

ต้นราชพฤกษ์ทรงปลูก กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ

          ในงานวันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเป็นวันเปิดหอจดหมายเหตุ มศว ด้วยนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ ที่ด้านหน้าอาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)

image
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์

ลายเสื้องานกีฬาบัณฑิตสัมพันธ์

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงออกแบบลายเสื้องานกีฬาบัณฑิตสัมพันธ์ ลายปลาแรด หมายถึง ความอดทน แข็งแรง

image
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าร่วมกิจกรรมงานวันบัณฑิตสัมพันธ์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เนื่องในวโรกาสทรงเข้าศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์

ชุดนักเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง

“… พวกเราจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ที่ถนนประสานมิตร นุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน เข็มขัดขาว เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ถุงเท้าสั้นสีขาว รองเท้าหนังหรือผ้าใบสีดำ …”

ชม ภูมิภาค

image
ชุดนักเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง

ชุดนิสิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา

          การแต่งกายของนิสิตหญิงเป็นสีขาว เสื้อขาว กระโปรงมีทั้งน้ำเงิน น้ำตาล ดำและเทา นิสิตหญิงไม่มีรองเท้าสีสลับ ทรงผมตัดสั้นบ้าง รวบทางม้าบ้าง ทรงรากไทรไม่มีเสื้อยืดรองเท้าแตะไม่มี นิสิตชายมีกางเกงสีกากีด้วยรองเท้ามี 2 สี คือ ดำ และน้ำตาล ใส่รองเท้าหุ้มสัน ผูกเชือกทั้งนั้นถ้าเสื้อแขนยาว ก็ไม่ม้วนแขน “ห้ามพับแขน” ดังกล่าวแล้วสีของวิทยาลัยเป็นสีเทาแดง สีที่นิยมมากสำหรับกระโปรงและกางเกงจึงเป็นสีเทา และใช้ต่อมาเมื่อยกฐานะเป็น มศว ด้วย

สุชาติ โพธิวิทย์

image
ชุดนิสิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา

พิธีประสาทปริญญาบัตรรุ่นแรก

          พิธีประสาทปริญญาบัตรรุ่นแรกของวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อปี 2497 โดยพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีและประสาทปริญญาบัตรให้แก่นิสิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ อาคารโรงอาหารเก่าหลังอาคาร 3 [(School Lunch) ปัจจุบันคือที่ตั้งของอาคารเรียนรวม (อาคาร 14 ตึกไข่ดาว)]

image
พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในพิธีประสาทปริญญาบัตร

พิธีประสาทปริญญาบัตรรุ่นที่ 2

          พิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งที่ 2 ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2499 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีและประสาทปริญญาบัตรให้แก่นิสิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน

image
ภาพจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในพิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งที่ 2 ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา

พิธีประสาทปริญญาบัตรรุ่นที่ 3

          พิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งที่ 3 ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2500 โดยศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงและขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาเป็นประธานในพิธี

          ครั้งนี้ครั้งเป็นครั้งสุดท้ายที่มีพิธีประสาทปริญญาบัตร ก่อนที่ในปี 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรเรื่อยมาจนถึงปี 2525

image
ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ประธานในพิธี

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ สวนอัมพร

          บรรยากาศพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 2525 ภายในบริเวณสวนอัมพร พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

image
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อปี 2525

หอพระมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

          เมื่อยังเป็นวิทยาเขตกลางหรือประสานมิตรนั้น มหาวิทยาลัยยังไม่มีพุทธสถานประจำมหาวิทยาลัย ดังนั้นศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์จึงได้มอบพระพุทธรูปโบราณที่เคยถูกประดิษฐานที่ วัดตะเชาว์ จังหวัดอ่างทอง ทางมหาวิทยาลัยได้บูรณะปฏิสังขรจากนั้นได้นำมาประดิษฐานที่มหาวิทยาลัย สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่องค์พระในเดือนมกราคม 2532 และในปี 2537 สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงประทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธปัญญาภิวัฒน์ ธรรมฉัตรศรีนครินทรวิโรฒ”

image
พระพุทธปัญญาภิวัฒน์ ธรรมฉัตรศรีนครินทรวิโรฒ

โรงเรียนหลังคาจาก

          โรงเรียนมัธยมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาในยุคแรก ภาพถ่ายประมาณปี 2500

image
โรงเรียนมัธยมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา

อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ

          เดิมชื่อว่า อาคารประสานมิตร (อาคาร 3) เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒตั้งแต่อดีต สิ่งปลูกสร้างที่เตือนความทรงจำของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คืออาคาร 3 หรืออาคารประสานมิตรในอดีต ซึ่งปัจจุบันนี้อาคารแห่งนี้เป็นอาคารที่ได้รับการบูรณะและดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาคาร 3 เป็นทั้งอาคารบริหารและอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง อาคาร 3 ก่อสร้างเสร็จในปี 2495

image
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)

วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน

          วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยบูรพา" ปี 2533

image
ภาพวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน

วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม

          ป้ายทางเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และได้แยกตัวเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2537

image
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม

วิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก

          วิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก ซึ่งต่อมาเป็น "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก" และยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยนเรศวร" ในปัจจุบัน

image
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก

วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา

          วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา ก่อตั้งเมือปี พ.ศ. 2511 และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา เมื่อปี 2517 และแยกตัวเป็น "มหาวิทยาลัยทักษิณ" เมื่อปี พ.ศ. 2539

image
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา

มศว ปทุมวัน

          เป็นวิทยาเขตที่สองของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปี พ.ศ. 2517 มศว ปทุมวันถูกยุบรวมวิทยาเขตเข้ากับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรในปี 2536 พื้นที่ในปัจจุบันของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันและกลุ่มอาคารศิลปกรรมและอาคารจุฬาวิชช์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

image
นิสิต คณะมนุษยศาสตร์ มศว ปทุมวัน ปี 2530 ภาพจาก : nubeeyah kukimiyah

วิทยาเขตบางเขน

          เป็นวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มศว บางเขนดำรงอยู่ได้ 19 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 ตามโครงการยุบรวมวิทยาเขต (โดยมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ให้ยุบรวมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ไปไว้ที่เดียวกัน ณ มศว ประสานมิตร) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครและโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

image
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขต บางเขน

วิทยาเขตพลศึกษา

          วันที่ 1 เมษายน 2513 วิทยาลัยพลศึกษาได้เข้ามาสมทบเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการการศึกษาเรียกชื่อว่า “วิทยาลัยวิชาการศึกษา พลศึกษา” ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” วิทยาลัยวิชาการศึกษา พลศึกษา จึงเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพลศึกษา

image
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพลศึกษา

น้ำท่วมประสานมิตร

          เหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากบริเวณนี้แต่ก่อนก็คือส่วนหนึ่งแห่งท้องทุ่งบางกะปิ ก่อนจะมาเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง บริเวณที่แห่งเคยเป็นบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อและนม ของกระทรวงเกษตราธิการ เพื่อใช้เลี้ยงโคนมและเนื้อ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นท้องทุ่งของบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี

image
ภาพเหตุการณ์น้ำท่วม บริเวณอาคาร 3 ปี 2526

บ้านพักอาจารย์ หม่อมราชวงศ์ จุรีพรหม กมลาสน์

          หลังจากที่ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง (2492) ได้ขอให้เพื่อนรัก หม่อมราชวงศ์จุรีพรหม กมลาศน์ มาดำเนินการและดูแลเรื่องอาคารสถานที่ ภูมิทัศน์ ความสงบเรียบร้อย รวมทั้งหอพักนิสิต โดยในช่วงแรกของการเป็นครู ท่านสอนหลายวิชาทั้งศิลปศึกษา พลศึกษา ศีลธรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ต่อมาได้มีการตั้งคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรมและกลายเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ ท่านได้ทำหน้าที่สอนวิชาด้านสถาปัตยกรรม เขียนแบบ ออกแบบ ถือเป็นต้นแบบของครูที่มีความรู้เกือบทุกศาสตร์

image
ภาพจากหนังสือย้อนรอยอดีต สถาบัน : ปราชญ์ผู้ทรงศีล

สะพานข้ามคลองแสนแสบ

          ตั้งแต่ยุคโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง มหาวิทยาลัยมีทางเข้าออกอยู่ 2 ทาง คือ ทางเข้าประตูใหญ่ฝั่งถนนสุขุมวิท (ซอยประสานมิตร หรือ ซอยสุขุมวิท 23) และ ท่าเรือริมคลองแสนแสบ ดังนั้น ศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อารมณ์ ปุณโณทก ดำเนินการในการสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบ ในการสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบนี้ ได้ผู้มีจิตกุศลประสงค์บริจาคที่ดินส่วนที่เชื่อมต่อกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ให้เป็นทางสาธารณะเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้บริจาคที่ดินเพื่อสาธารณะประโยชน์ คือ นายสนั่น เลียวพาณิชย์ และ นายวิชัย วิชัยธนารักษ์ และในปี 2525 สะพานข้ามคลองแสนแสบจึงได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ โดยใช้งบประมาณในการสร้างจากกรุงเทพมหานคร

image
สะพานข้ามคลองแสนแสบ ส่วนที่เชื่อมต่อกับถนนเพชรบุรี ภาพจาก : PRSWU

อาคาร 11 และ อาคาร 12

          อาคาร 11 อาคารคณะสังคมศาสตร์ และ อาคาร 12 อาคารคณะศึกษาศาสตร์ ในสมัยที่ยังเชื่อมเป็นอาคารเดียวกัน

image
อาคาร 11 และ อาคาร 12 ก่อนแยกออกจากกัน

แยกอาคาร 11 และ อาคาร 12

          อาคาร 11 อาคารคณะสังคมศาสตร์ และ อาคาร 12 อาคารคณะศึกษาศาสตร์ ได้แยกออกจากกัน โดยทำการปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่ปี 2552 และแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2553 เพื่อรองรับ การขยายตัวและพื้นที่ของมหาวิทยาลัยในส่วนของการสร้างลานจอดรถใต้ดิน การสร้างลานอโศกมนตรี (SWUNIPLEX) ซึ่งมีอาคารบริการ : ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี และเป็นการเปิดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสู่ถนนอโศกมนตรี

image
ภาพตอนแยกอาคาร 11 และอาคาร 12 ออกจากกัน

ศาลากลางน้ำ

"ต้นหลิว ทิวสน เหมือนสัญญาผูกพัน ให้รักกันสัมพันธ์สายใจ... "

          ศาลากลางน้ำที่เหล่านิสิตร่วมกันบริจาคเงินสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นจุดพักผ่อน รวมไปถึงเป็นจุดรวมตัวทำกิจกรรม เช่น กิจกรรมลอยกระทง และรอบๆ สระมรกต มีต้นหลิวและต้นสนปลูกให้ความร่มรื่นจนเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏขึ้นในบทเพลง (อาจารย์ จันทร์ทิพย์ ลิ่มทอง, 2565)

image
ภาพศาลากลางน้ำ

ท่าเรือประสานมิตร

          ท่าเรือประสานมิตร สมัยก่อนมีสะพานข้ามคลอง ด้านหลังจะเห็นอาคาร 5 หรือ โรงฝึกงานของนิสิต กศ.บ. อาชีวศึกษา

image
ท่าเรือประสานมิตร

จุดกำเนิดนักว่ายน้ำ

          ท่านอาจารย์ฟอง เกิดแก้ว ได้เล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นมีครูฝรั่งเข้ามาสอนว่ายน้ำให้นักเรียนพลศึกษา เพื่อให้คนไทยได้มีความรู้เรื่องการว่ายน้ำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นครั้งแรก โดยไปใช้สระน้ำในวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (คุณพ่อของผมบอกว่าตรงนี้คือสระมรกต ปัจจุบันถูกถมเป็นที่ตั้งของหอสมุดกลาง มศว ประสานมิตรครับ) ผู้คนเหล่านี้ และสถานที่แห่งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของผู้สอนว่ายน้ำรุ่นแรกที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยในเวลาต่อมา

image
ภาพว่ายน้ำในวิทยาลัยวิชาการศึกษา ภาพจากอาจารย์พิชิต เมืองนาโพธิ์ ที่ให้ความกรุณาส่งภาพและข้อมูลแก่หอจดหมายเหตุ

อนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ มล.ปิ่น มาลากุล

          อนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ มล.ปิ่น มาลากุล หล่อด้วยโลหะขนาด เท่าครึ่งของตัวจริงท่าน ประติมากรคือ อาจารย์เสวต เทศน์ธรรม ใช้เวลา 1 เดือนครึ่งในการสร้าง โดยทำการหล่อที่โรงหล่อพุทธรังษี ปฏิมากรรม ธนบุรี ต้นแบบนั้นคณะกรรมการได้เลือกภาพท่าทางของศาสตราจารย์ มล.ปิ่น มาลากุล ในช่วงก่อนเกษียณอายุราชการ ในชุดตรวจการสีกากี เป็นท่ายืนสบายๆ ถือหมวกกะโล่ด้วยมือซ้ายแนบบริเวณเอว เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ ท่านเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของไทยและมหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒอย่างมาก ทั้งนี้ได้ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ในวันมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 28 เมษายน 2542

image
ภาพการติดตั้งอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ มล.ปิ่น มาลากุล

อาคารจอดรถใต้ดิน มศว

          การก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดิน ปี 2552 ในวาระ “มศว 60 ปี ศรีสง่ามหานคร” ที่จอดรถใต้ดิน 2 ชั้น บรรจุรถได้ประมาณ 800 คัน บริเวณใต้ลานอโศกมนตรี “SWUNIPLEX”

image
ภาพการก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดิน ปี 2552

เลือกรายการเพื่อไปยังหัวข้ออื่น


เรียบเรียงโดย

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2024 Copyright ICASWU
Back To Top