Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ

ข่าวหน่วยงาน

ชุมชนชาวมอญในพระประแดงกับวัฒนธรรมการเล่นสะบ้าบ่อน

ชุมชนชาวมอญในพระประแดงกับวัฒนธรรมการเล่นสะบ้าบ่อน

บทความโดย นายศุภณัฐ ศักดิ์ประชาราษฎร์ นิสิตฝึกงาน ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Author: Jaranai/Wednesday, August 14, 2024/Categories: บทความ

ชาวมอญคือใคร?

          ชาวมอญคือกลุ่มผู้สืบเชื้อสายจากชาวออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) ดั้งเดิมซึ่งเป็นมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่าอพยพมาจากแยงซีเกียงในจีนตอนใต้ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสะโตง แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง 3,000 ปีก่อน หนึ่งในนั้นคือมอญซึ่งเป็นชนชาติเก่าแก่ มีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก จากพงศาวดารของราชวงศ์พุกามกล่าวว่ามอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนที่เป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในปัจจุบันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนพุทธกาล บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ในพุทธศตวรรษที่ 2 ชนชาติมอญสถาปนาอาณาจักรสุธรรมวดี (สะเทิม) อันรุ่งเรืองมีการค้าขายติดต่ออย่างใกล้ชิดกับชมพูทวีปและลังกา มีการรับเอาอารยธรรมมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ และศาสนา โดยเฉพาะการรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามา โดยมอญมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดอารยธรรมจากชมพูทวีปไปยังชนชาติอื่น เช่น ชาวพม่า ไทย และลาว มอญมีความรู้ทางด้านการเกษตรเป็นเลิศ และมีความชำนาญในการชลประทาน อาณาจักรสุธรรมวดีแผ่ขยายออกไปจนกระทั่งอาณาจักรพุกามเถลิงอำนาจมากขึ้นในดินแดนแถบนี้ และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้เข้ารุกรานสุธรรมวดี ชนชาติมอญจึงต้องโยกย้ายถิ่นฐานสู่แดนใต้และสถาปนาราชธานีแห่งใหม่คือกรุงหงสาวดี (หรือพม่าในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 1368

          พระเจ้าอโนรธา กษัตริย์แห่งพุกาม ยกทัพมาตีอาณาจักรสุธรรมวดีจนล่มสลายลง ส่งผลให้ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.1600-1830 กรุงหงสาวดีก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจพุกาม แต่พุกามเองก็รับเอาวัฒนธรรมชนชาติมอญมาด้วย ทั้งด้านภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ได้เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือสูงสุดในพุกาม จึงมีส่วนทำให้นิกายเถรวาทได้แพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากอารยธรรมของชนชาติมอญ หลังจากนั้นชนชาติมอญก็อยู่ในสถานะที่เป็นประเทศราชบ้าง เป็นอิสระบ้างตามบริบทของยุคสมัย จนกระทั่ง พ.ศ. 2238 มีการฟื้นฟูอาณาจักรของชนชาติมอญที่เรียกว่า อาณาจักรหงสาวดีใหม่โดยพระเจ้าสมิงทอพุทธกิตติ ในคราวที่ราชวงศ์ตองอูเสื่อมอำนาจลง แต่เมื่อชนชาติพม่ามีการสถาปนาราชวงศ์โก้นบองขึ้นใหม่โดยพระเจ้าอลองพญาใน พ.ศ. 2300 พระองค์ก็สามารถฟื้นฟูอาณาจักรให้กลับมาแข็งแกร่งได้ และได้เคลื่อนทัพเข้าโจมตีอาณาจักรหงสาวดีใหม่จนแตกพ่ายไป โดยกษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือพระเจ้าพญามองธิราช และหลังจากนั้นชาวมอญก็ไม่สามารถกอบกู้อาณาจักรของตนกลับมาได้อีกจวบจนปัจจุบัน

ชุมชนชาวมอญในพระประแดง

          พระประแดง เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่อยู่ของชาวมอญกลุ่มใหญ่มากว่า 200 ปี จนมีคำเรียกขานชาวมอญที่นี่ตามถิ่นฐานว่า มอญพระประแดง หรือ มอญปากลัด

          ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งกล่าวว่า เมื่อมอญถูกพม่ากดขี่ข่มเหงต่าง ๆ และไม่มีกำลังพอจะต่อสู้พม่าได้ จึงอพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม ตามพงศาวดารให้รายละเอียดว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผลจากการถูกพม่าข่มเหงรังแก ทำให้ผู้นำมอญต้องการอพยพครัวมอญมายังกรุงสยามจึงมีหนังสือลับเข้ามาถึงพระยากาญจนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2357 จากนั้นความทราบถึงรัชกาลที่ 2 ทรงไม่ขัดที่พวกมอญจะมาพึ่งพระบารมี ชาวมอญจึงอพยพครัวเรือนเข้ามาในพระราชอาณาจักร โดยมากมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี

          เมื่อครัวมอญมาถึงในคราวแรก รัชกาลที่ 2 ในคราวแรกทรงโปรดให้ชาวมอญมาอยู่ที่ปทุมธานี แต่พอมีข่าวลือว่าฝรั่งจะบุกปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทรงมีรับสั่งให้สร้างป้อมปราการ และโปรดให้ย้ายครัวมอญที่มีจำนวนกว่า40,000 คนเศษ จากปทุมธานีไปอยู่ดูแลป้อมและเมืองนครเขื่อนขันธ์ (อำเภอพระประแดงในปัจจุบัน) โดยมีพญาเจ่งที่มีเชื้อสายเจ้ามอญเป็นผู้นำ กลุ่มชาวมอญของพญาเจ่งที่แต่เดิมอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและเข้ามาสมทบเพิ่มในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันยังริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันเป็นชุมชนชาวมอญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการสืบทอดวัฒนธรรมของตนเรื่อยมา

ที่มา : เพจค้นตนคนมอญ-พระประเเดง เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2565

https://www.facebook.com/photo/?fbid=392425446432226&set=a.392425409765563

 

การเล่นสะบ้าบ่อน

          1. การเล่นสะบ้าเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่นิยมแพร่หลายมาแต่โบราณ ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด เท่าที่พบหลักฐานในจดหมายเหตุครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 กล่าวว่า “ตรุษสงกรานต์ตีเข้าบิณฑ์เล่นสะบ้า ชายหนุ่มร้องเล่นโพลก” ต่อมาพบหลักฐานที่กล่าวถึงการเล่นสะบ้าในนิราศที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ความว่า “พอสบพบปะพวกสะบ้า เสียงเฮฮาเล่นกันสนั่นวิหาร ที่ใครแพ้ต้องรำทำประจาน สนุกสานสาวหนุ่มแน่นกลุ้มดู ข้างละพวกชายหญิงยิงสะบ้า แพ้ต้องรำทำท่าน่าอดสู ล้วนสาวสาวน่าประโลมนางโฉมตรู เที่ยวเดินดูน่าเพลินเจริญใจ”

          2. บ่อนสะบ้า บ่อนในที่นี้หมายถึง แหล่งเป็นที่ชุมนุมกันเพื่อการบางอย่าง บ่อนสะบ้ามักจะใช้บ้านที่มีบริเวณใต้ถุนบ้านสูง หรือลานกว้าง ในสมัยก่อนฝ่ายหญิงจะต้องจัดเตรียมบ่อนสะบ้าโดยใช้น้ำราดและทุบดินบริเวณใต้ถุนบ้านให้เรียบด้วยตะลุมพุก (ไม้ท่อนคล้ายค้อนเอาไว้สำหรับตำข้าว) แล้วกลึงให้พื้นนั้นเรียบสนิท ในปัจจุบันใช้เล่นบนพื้นปูนซีเมนต์หรือบนพื้นไม้ก็มี ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งบ่อนสะบ้า ในอดีตนั้นผู้หญิงแต่ละหมู่บ้านจะมาช่วยกันประดับตกแต่งบ่อนสะบ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติ หาได้ง่ายในท้องถิ่น และราคาถูก เช่น ทางมะพร้าว กระดาษ หรือผ้าสีต่าง ๆ ติดตะเกียงหรือไฟฟ้าให้สว่างไสว จัดโต๊ะรับแขกสำหรับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมบ่อนสะบ้า พร้อมตั้งน้ำดื่ม กาละแมหรือข้าวเหนียวแดงไว้รับรองอีกด้วย แต่ในปัจจุบันการตกแต่งบ่อนสะบ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาจากเดิมที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติและหาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นวัสดุจำพวก แผ่นไม้อัด โฟม แผ่นไวนิล เป็นต้น

          3. การเล่นสะบ้าบ่อนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หนุ่มสาวชาวมอญได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดภายใต้สายตาของผู้ใหญ่ เนื่องจากในอดีตหนุ่มสาวชาวมอญไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกันเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นการเล่นสะบ้าบ่อนของชาวมอญจึงไม่ได้เน้นที่แพ้หรือชนะ แต่หากใช้เป็นเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบรูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การสนทนา และบุคลิกภาพ อันจะนำไปสู่การสานต่อความสัมพันธ์ของหนุ่มสาว โดยการเล่นว่อนฮะนิ (สะบ้าบ่อน) จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักเล่นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน มีกำหนด 3 วัน 7 วัน หรือ 15 วัน แล้วแต่เจ้าของบ่อน

          4. โดยในเมืองพระปะแดงมีสถานที่จัดการเล่น “สะบ้า” ที่เรียกว่า “บ่อน” อยู่หลายที่ ได้แก่ บ่อนชมรมศิษยานุศิษย์วัดทรงธรรม บ่อนวัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์ บ่อนโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี บ่อนชุมชนชุมนุมพานิช บ่อนอุทยานป้อมแผลงไฟฟ้า บ่อนวัดพญาปราบปัจจามิตร

ที่มา : เพจพระประแดงที่รัก เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2562

https://www.facebook.com/photo/?fbid=2342604369135127&set=pcb.2342664122462485

 

ลูกสะบ้า

          ในอดีตนั้นลูกสะบ้าที่นำมาเล่นคือเมล็ดที่อยู่ในฝักของต้นสะบ้าซึ่งเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ คล้ายเถาวัลย์ ลักษณะเมล็ดกลม แบน ใหญ่ เปลือกนอกสีน้ำตาลแก่ เนื้อข้างในสีขาว เมล็ดสะบ้าที่นำมาเล่นมักเป็นต้นสะบ้าหลวงเพราะเมล็ดใหญ่ ฝักมีขนาดใหญ่และภายในมีผลทรงแบน ๆ ผลเป็นสีน้ำตาลแดงปนน้ำตาลไหม้ลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกแข็งและมันเงา เหมาะที่จะนำมาใช้ในการเล่นสะบ้า แต่ในปัจจุบันผลสะบ้าค่อนข้างที่จะหาได้ยากจึงเลือกใช้วัสดุหลากหลายชนิดตามความต้องการและความสวยงาม เช่น งาช้าง กระดูกวัว กระดูกควาย เขาควาย เงิน ทองแดง ทองเหลือง หรือไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะของเจ้าของบ่อนสะบ้าอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นแต่เพียงวัสดุประเภททองเหลือง และไม้เนื้อแข็งเท่านั้น ซึ่งลูกสะบ้าหรือผลสะบ้านั้นจะต้องมีลักษณะแบน มีความหนาโดยประมาณ สำหรับลูกสะบ้าสำหรับฝ่ายหญิงจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1–2 นิ้ว และลูกสะบ้าสำหรับฝ่ายชายนั้นจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3–5 นิ้ว หรืออาจจะมีขนาดที่ใหญ่เท่าเขียงขนาดเล็กก็เป็นได้

ที่มา : The Story Culture เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2563

https://thestoryculture.co/intangible-sababon-phrapradaeng/

 

เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ

          หนุ่มเล่นสะบ้าและสาวประจำบ่อนสะบ้าในอดีตนั้น จะแต่งกายตามประเพณีคือ ผู้หญิงจะนุ่งผ้ากรอมเท้า สวมเสื้อแขนกระบอกเอวลอย และมีผ้าคล้องคอ มักจะแต่งเป็นสีเดียวเหมือนกันหมด และเปลี่ยนชุดสีละวัน สวมสร้อยคอ ใส่ต่างหู และทัดดอกไม้ ส่วนผู้ชายนั้นจะนุ่งผ้าลอยชาย หรือนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมลายดอก หรือลวดลายตามสมัยนิยม ผ้าพาดไหล่มักจะใช้ผ้าขาวม้า หรือ “หญาดฮะเหริ่มโตะ” (สไบมอญ) ที่มีสีฉูดฉาด ในอดีตผ้าพาดไหล่รวมถึงผ้ากรอมและเครื่องแต่งกายไม่ได้มีสีฉูดฉาดเฉกเช่นปัจจุบัน เนื่องจากการย้อมผ้าในอดีตทั้งของชาวมอญและชาวไทยมีจุดร่วมกันประการหนึ่งคือการใช้สีที่ได้จากธรรมชาติดังนั้นเครื่องนุ่งห่มที่ผ่านการย้อมสีจะเป็นสีที่ไม่ฉูดฉาดมากนักจะออกไปทางสีแก่เสียมากกว่า เช่น สีแก่นขนุน (เหลืองแก่) สีกรัก (แดงอมน้ำตาล) สีบัวโรย (ชมพู) เขียวไข่ครุฑ (ฟ้าอมเขียว) สีมอคราม (ฟ้าแก่) ม่วงเม็ดมะปราง (ม่วงแก่) เขียวไพร (เขียวแก่) แดงตัด (แดงแก่) น้ำเงินขาบ (น้ำเงินแก่อมม่วง) สีอิฐ (ส้มแก่) เป็นต้น จนกระทั่งสีย้อมสังเคราะห์ได้ถูกคิดค้นขึ้นใน พ.ศ. 2399 และเริ่มเข้ามาในสยามปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทำให้สีแบบเดิมที่ถูกนำมาใช้ค่อย ๆ เลือนลางหายไปตามยุคสมัย แทนที่ด้วยสีย้อมสังเคราะห์ที่มีความฉูดฉาดมากกว่า เหลือไว้เพียงสีแดงตัดบนโสร่งแดงลายตารางที่เป็นเครื่องแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวมอญในปัจจุบัน เมื่อแต่งกายจนงดงามแล้วบางคนจะปะแป้งที่หน้า หวีผมเรียบและห้อยพระเครื่องพวงใหญ่ ใส่สร้อยทองเครื่องประดับต่าง ๆ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะของหนุ่มสะบ้าที่มาเล่นนั่นเอง

สาวประจำบ่อน

          การละเล่นในแต่ละบ่อนนั้นจะมีสาว ๆ ประจำบ่อนจำนวน 8–12 คน ตามขนาดของบ่อนสะบ้า สาวประจำบ่อนสะบ้าจะเป็นหญิงสาวในหมู่บ้านนั้น ๆ ซึ่งจะต้องเป็นสาวโสดที่อายุไม่เกิน 25 ปี และจะมีหัวหน้าสาวหรือแม่เมือง (ผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่) คอยควบคุมดูแลอีกทีหนึ่ง หากบ่อนสะบ้าบ่อนไหนมีสาวงามมากก็จะมีผู้มาชมมากตามไปด้วย

ที่มา : เพจพระประแดงที่รัก เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2562

https://www.facebook.com/photo?fbid=2342604902468407&set=pcb.2342664122462485

 

หนุ่มเล่นสะบ้า

          ส่วนใหญ่มักจะเป็นหนุ่มโสดต่างหมู่บ้านโดยจะรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 10–20 คน ไปเล่นสะบ้าตามบ่อนต่าง ๆ และหนุ่มสะบ้าที่มาเล่นนั้นจะต้องมีหัวหน้าที่เป็นผู้อาวุโส และจะต้องเชื่อฟังผู้อาวุโสที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม เพราะในขณะที่เล่นสะบ้ากันอย่างสนุกสนาน หนุ่มบางคนอาจจะพูดจาหรือทำบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นมาได้ จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มที่จะต้องว่ากล่าวตักเตือนหรือควบคุมเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ผู้อาวุโสในที่นี้จึงมักจะเป็นญาติผู้ใหญ่อันเป็นที่เคารพนับถือ

ที่มา : The Story Culture เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2563

https://thestoryculture.co/intangible-sababon-phrapradaeng/

 

วิธีการเล่นสะบ้า

          ขั้นตอนและวิธีในการเล่นสะบ้าแต่ละแห่งนั้นจะแตกต่างกันออกไป อาทิ ชุมชนมอญบางกระดี่ จะนิยมเล่นพร้อมกันทุกคู่ ซึ่งจะแตกต่างกับการเล่นสะบ้าของชุมชนมอญพระประแดงจะนิยมเล่นทีละคู่ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคู่จึงจะเริ่มท่าใหม่ได้ ซึ่งท่าประกอบการเล่นนั้นก็มีอยู่หลายท่าด้วยกัน โดยเริ่มแรกฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มเล่นก่อนและให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้นั่งและตั้งลูกสะบ้า และฝ่ายชายจะเป็นผู้ทอยหรือดีดลูกสะบ้าของตนให้ถูกลูกสะบ้าของฝ่ายหญิงในคู่ของตนให้ล้มลง หากทอยหรือดีดลูกสะบ้าของฝ่ายตรงข้ามไม่ล้ม หรือไม่ตรงคู่เล่นของตนก็จะมีโอกาสร้องขอและอ้อนวอนโดยนั่งพับเพียบและกล่าวเป็นภาษามอญว่า “บั๊วกะหยาดอัดมั่วล่น ปลอนระกะหยาด” แปลว่า “พี่สาวจ๋า ขอโอกาสอีกสักครั้งเถิดขอรับ” การขอโอกาสในการแก้ตัวใหม่เมื่อได้ทอยหรือดีดลูกสะบ้าผิดไปนี้เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพูดคุยกันแต่ต้องสุภาพไม่หยาบโลน ระหว่างที่เล่นสะบ้าอยู่นั้นทั้งสองฝ่ายมักจะระวังตัว รักษามารยาท และไม่แสดงกริยาท่าทางที่ไม่สมควร เพราะมีสายตาของผู้ใหญ่ที่กำลังเฝ้ามองอยู่บนบ้านเพื่อไม่ให้หนุ่มสาวเกินเลยซึ่งกันและกัน และเมื่อสิ้นสุดการเล่นสะบ้าในแต่ละค่ำคืนนั้น ฝ่ายชายที่เป็นหัวหน้าทีมก็จะกล่าวคำอำลาฝ่ายหญิงด้วยถ้อยคำที่สุภาพอ่อนหวานเป็นภาษามอญว่า “บั๊วกะหยาดอัวเดิด หรือ โปยเดิ๊ดกะเลาะกลาระกะหยาด” แปลว่า พี่สาวจ๋า ผมขอลาไปก่อนและขออภัยหากมีการล่วงเกินนะขอรับ เหตุที่กล่าวเป็นภาษามอญเนื่องจากเดิมการละเล่นนั้นจะใช้ภาษามอญทั้งหมดแต่เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ภาษาไทยเข้ามาแทนที่เพราะภาษามอญไม่ได้ถูกใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนครั้งในอดีต

ที่มา : เพจพระประแดงที่รัก เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2562

https://www.facebook.com/photo/?fbid=2342605122468385&set=pcb.2342664122462485

 

ขนบธรรมเนียมในการเล่น  

          การเล่นสะบ้าบ่อนของชาวมอญนั้นมีขนบธรรมเนียมในการเล่นที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด กฎข้อแรกคือหนุ่มสะบ้าและสาวประจำบ่อนจะต้องไม่ถูกเนื้อต้องตัวกันเด็ดขาด แม้แต่การส่งลูกสะบ้าคืนก็จะต้องไม่ส่งผ่านมือกัน จะต้องใช้วิธีการล้อลูกสะบ้าคืนเท่านั้น กฎข้อที่สอง หนุ่มสาวที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันจะไม่เล่นสะบ้าร่วมกัน กฎข้อสุดท้ายคือ หนุ่มสาวที่จะเล่นสะบ้าหรือคู่สะบ้าของตนเองนั้นจะต้องไม่เป็นญาติพี่น้องกัน ถ้าหากมองลงไปให้ลึกซึ้งจะเห็นได้ว่าขนบธรรมเนียมในการเล่นเป็นความชาญฉลาดของชาวมอญอย่างหนึ่งที่แอบแฝงอยู่ สาเหตุหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้หนุ่มสาวในหมู่บ้านเดียวเล่นสะบ้าด้วยกันคือหนุ่มสาวในหมู่บ้านเดียวกันส่วนใหญ่มักเป็นญาติพี่น้องกัน ถ้าหากเกิดการแต่งงานกันอาจจะก่อให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายอันเกิดจากพันธุกรรมนั่นเอง รวมทั้งให้คำนึงถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ฝ่ายชายจะต้องไม่ล่วงเกินฝ่ายหญิง และประพฤติตนอย่างสุภาพนอบน้อมตลอดการละเล่น

          การเล่นสะบ้าบ่อนของชาวมอญจึงเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ควรอนุรักษ์สืบสาน เป็นภาพสะท้อนของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนชาติมอญในอดีตที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวชายหนุ่มหญิงสาววัยแรกรุ่นให้ได้มีโอกาสพบเจอกัน คล้ายกับงานเดบูตองส์ของฝรั่งเศส แม้ในปัจจุบันบริบททางสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปผู้คนทั้งชายหญิงมีโอกาสพบปะพูดคุยกันได้ในหลากหลายโอกาสและสถานที่ ทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การพูดคุยทำความรู้จักกันสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่วัฒนธรรมการเล่นสะบ้าบ่อนก็ยังคงถูกสืบสานในฐานะอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่สอดแทรกการรู้จักให้เกียรติผู้อื่น ขัดเกลาผู้เล่นให้มีความสุภาพอ่อนน้อม ผูกมิตรไมตรีซึ่งกันและกันสร้างความสามัคคีของชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามไม่ว่ายุคไหนสมัยใดจึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ หากมีโอกาสจึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านได้สัมผัสกับการเล่นสะบ้าบ่อนและสัมผัสกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตผ่านสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อาทิ เทศกาลสงกรานต์พระประแดง วัดทรงธรรมวรวิหาร วัดอาษาสงคราม ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ชุมชนเว่ขะราว ศาลเจ้าพ่อบ้านฮะเริ่น ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะทำให้ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวมอญที่อพยพเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยมานานกว่าหลายชั่วอายุคนและได้ผสมผสานจนเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมดังเช่นในปัจจุบัน

ที่มา : สำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2564

https://www.samutprakan.go.th

 

บรรณานุกรม

          นิษฐา หรุ่นเกษม.  (2567,มิถุนายน).  เรื่องเล่าจากผ้าสไบมอญ: การยกระดับการสื่อสารผลิตภัณฑ์ชุมชนมอญคลองสามวา สำหรับผู้ประกอบการสูงวัย.  สหวิทยาการและความยั่งยืนปริทรรศน์ไทย.  13(2):112-116.

          พิมลพร วัจนเทพินทร์. (2553).  ศึกษาการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผ้ามอญทอมือของชุมชนมอญ ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี.  ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. (การประกอบการ).  กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.  อัดสำเนา.

          ยุวดี ศรีห้วยยอด.  (2564).  การเล่นสะบ้า.  สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567, จาก https://communityarchive.sac.or.th/blog/119

          ไวยเดช หลักคงคา.  (2525).  รวบรวมเกร็ดพงศาวดารและประวัติศาสตร์ชนชาติมอญ.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.

          ศิลปวัฒนธรรม.  (2558).  สะบ้า : เกมกีฬาของมอญ เขมร และอื่นๆ.  สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_10854

          ศิลปวัฒนธรรม.  (2567).  “มอญพระประแดง”มาจากไหน.  สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_131313

          Thai-herbs.  (2564).  สะบ้ามอญ.  สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567, จาก https://thai-herbs.thdata.co/page/สะบ้ามอญ/

Print

Number of views (3501)/Comments (0)

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2024 Copyright ICASWU
Back To Top