"แสงอาทิตย์ยามเช้าสาดส่องลงบนผิวน้ำคลองแสนแสบ เสียงเรือหางยาวแล่นผ่านเบาๆ ริมสองฝั่งคลองเรียงรายไปด้วยบ้านเรือนและต้นไม้เขียวขจี นี่คือภาพที่คุ้นเคยของคนกรุงเทพฯ แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะมาเป็นคลองแสนแสบที่เราเห็นทุกวันนี้ คลองสายสำคัญของกรุงเทพฯ แห่งนี้ผ่านเรื่องราวและการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน" สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ ขอนำเสนอ คลองแสนแสบ: เส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพฯ ถึงเรื่องราวความเป็นมาของคลองแสนแสบ รวมไปถึงมีความสำคัญกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอย่างไร? สามารถรับชมนิทรรศการออนไลน์ คลองแสนแสบ: จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ภาพจาก : PRSWU
คลองแสนแสบ เป็นหนึ่งในคลองสำคัญของกรุงเทพมหานคร มีความยาวประมาณ 72 กิโลเมตร ไหลผ่านหลายเขตของกรุงเทพฯ เชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง นอกจากจะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญแล้ว คลองแสนแสบยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และปัจจุบันนี้ยังมีบทบาทสำคัญในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
ที่มาของชื่อ "แสนแสบ"
1: ยุงร้าย สันนิษฐานว่าชื่อแสนแสบอาจมาจากความเจ็บแสบของชาวบ้านที่ถูกยุงกัด เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชั้นดี
ภาพจาก : NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย
ภาพจาก : ศิลปวัฒนธรรม silpa-mag.com
1. เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวนไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ในส่วนของเขมรและญวนนั้น เขมรเป็นประเทศราชของไทยมาช้านานแต่ถูกญวนเข้าครอบงำ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามดึงเขมรให้กลับมาอยู่ใต้การปกครองของไทยเช่นเดิม ต่อมาเมื่อญวนเกิดความไม่สงบภายใน ฝ่ายกบฏได้ขอความช่วยเหลือมาทางไทยในการแยกดินแดนญวนใต้ออกมาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การเข้าแทรกแซงนี้จะทำให้ปัญหาเรื่องเขมรยุติลงได้และจากจุดนี้จึงเป็นการเริ่มต้นของสงครามอันยืดเยื้อยาวนาน ระหว่างไทยกับญวนที่เรียกว่า “อันนัมสยามยุทธ” ซึ่งใช้เวลานานร่วม 14 ปี ในส่วนความสัมพันธ์กับลาวนั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ได้เกิดเหตุการณ์การปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ. 2396 ไทยส่งกองทัพไปปราบปรามจนสำเร็จและกวาดต้อนผู้คนกลับมาเป็นจำนวนมาก
จากการที่พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของพระนครยังเป็นที่รกร้าง เป็นป่าและท้องทุ่ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นทางที่จะนําไปสู่หัวเมืองชายขอบทางชายแดนภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งข้าวแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์การจะเข้าถึงหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนบรรดาประเทศราชในบริเวณนั้นให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ นั่นคือการ “สร้างทางใหม่” ที่เชื่อมต่อระหว่างพระนครกับเมืองดังกล่าว เส้นทางใหม่ที่ว่านี้คือคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกที่สุดในเวลานั้น การขุดคลองแสนแสบเพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำบางปะกงที่เมืองฉะเชิงเทรา จึงน่าจะเป็นการสนองนโยบายนี้ได้อย่างเด่นชัดและช่วยย่นระยะการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังดินแดนทางด้านตะวันออกได้มากกว่าการเดินทางโดยทางบก
ภาพจาก : Explore World
ภาพจาก : Siam, Thailand & Bangkok Old Photo Thread
2. เพื่ออํานวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง การค้าขาย และการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่รัฐ การขุดคลองแสนแสบใน พ.ศ. 2380 แม้ว่าจุดประสงค์หลักอยู่ที่การใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ แต่การได้ประโยชน์จากการขยายขอบเขตการค้าขายภายในประเทศให้กว้างขวางขึ้น โดยอาศัยคลองแสนแสบเป็นหนทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย คลองแสนแสบซึ่งปลายคลองอยู่ที่ ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงน่าจะเป็นเส้นทางคมนาคมและขนส่งผลผลิตทางการเกษตร คือข้าวและน้ำตาล มายังพระนครและช่วยให้การคมนาคมระหว่างพระนครกับฉะเชิงเทราเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้การขุดคลองแสนแสบยังเป็นการเปิดพื้นที่สองฝั่งคลองให้เป็นที่นาสำหรับปลูกข้าวได้เพิ่มมากขึ้น เป็นเส้นทางคมนาคมภายในที่พ่อค้านําสินค้าไปขายยังชุมชนหรือหมู่บ้านที่อาศัยตามแนวคลอง สินค้าส่วนใหญ่มาจากเรือสินค้าของต่างชาติหรือเข้ามากับเรือสำเภาของไทยเอง เช่น ผ้าลาย ผ้าแพรจีน ผ้าฝ้าย เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องลายคราม เครื่องเหล็ก หมึกจีน ยาเส้น แว่นตา ตะปู สบู่ แป้งสาลีเป็นต้น เมื่อคลองแสนแสบกลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตทางด้านตะวันออกมายังพระนคร รัฐจึงตั้งด่านภาษีไว้ตามรายทางเพื่อเรียกเก็บภาษีสินค้า เช่น ด่านภาษีที่วัดภาษีซึ่งปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่แขวงคลองตัน เขตพระโขนง ริมคลองแสนแสบ ผลพลอยได้จากการขุดคลองแสนแสบคือเกิดการขยายตัวของชุมชนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งตามริมคลองแสนแสบ เช่น ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนภาคใต้ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์และเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่สี่แยกบ้านแขก ทุ่งครุ บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก บ้านอู่ สามแยกท่าไข่ ปากลัด นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี และอยุธยา ชุมชนมุสลิมเชื้อสายจาม – เขมร ที่เข้ามารับราชการเป็นทหารอาสาตั้งแต่สมัยอยุธยาและได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งบ้านเรือนนอกเขตพระนครตรงบริเวณที่เป็นคลองแสนแสบใต้หรือบริเวณเจริญผล ในปัจจุบันชุมชนมุสลิมจากชวาที่กระจายอยู่ทั่วไปรวมทั้งในบริเวณทุ่งแสนแสบด้วย นอกจากนี้มีชุมชนชาวลาว แถบเมืองมีนบุรีและฉะเชิงเทรา ชุมชนชาวมอญที่เมืองมีนบุรี หนองจอก และชุมชนชาวจีน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่หัวหมากเรื่อยมาจนถึงบางขนาก ชุมชนเหล่านี้โดยมากจะมีอาชีพเป็นชาวนาและปลูกพืชผลทางการเกษตร
พัฒนาการของคลองแสนแสบกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง
ภายหลังการขุดคลองแสนแสบใน พ.ศ. 2380 คลองนี้มีพัฒนาการมาโดยตลอดทั้งในเรื่องของการใช้ประโยชน์และการใช้พื้นที่ริมฝั่งคลองจากที่เคยรกร้างเป็นส่วนใหญ่ก็กลับมามีผู้คนอาศัยทำการเพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของรัฐและประชาชน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแสนแสบนั้น บริเวณแถบนี้ยังคงเป็นท้องทุ่งที่มีอาณาเขตกว้างขวางและรกร้างว่างเปล่ามาก่อนเช่นเดียวกับทุ่งบางกะปิ ทุ่งวัวลำพองและทุ่งสามเสน เมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ พ.ศ. 2369 ข้าวเป็นสินค้าออกที่สำคัญทำให้รัฐต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มแรงงานหรือกําลังคนในการผลิตด้วย กําลังคนที่ว่านี้โดยส่วนใหญ่คือเชลยที่ถูกกวาดต้อนภายหลังศึกสงคราม เชลยส่วนหนึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหลักแหล่งบริเวณริมคลองแสนแสบที่ขุดขึ้นใหม่ซึ่งยังรกร้างว่างเปล่าอยู่มากและให้ทำนาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่รัฐ นอกจากนี้ยังมีเชลยที่เป็นแขกมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งกองทัพไทยยกทัพลงไปปราบกบฏที่เมืองไทรบุรีและปัตตานีด้วย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯให้ตั้งหลักแหล่งที่บริเวณประตูน้ำ มีนบุรี หนองจอก พระโขนง คลองตัน มหานาค ซึ่งอยู่ในท้องทุ่งแสนแสบรวมไปถึงเมือง ฉะเชิงเทราที่ปลายทางของคลองอีกด้วย๑๓ เชลยจากเมืองไทรบุรีกลันตัน รัฐเคดะ และปินังได้ตั้งบ้านเรือนที่ตำบลทรายกองดิน เมืองมีนบุรี ในเวลานั้นการขุดคลอง แสนแสบยังดำเนินอยู่ รัฐจึงได้แรงงานเชลยเหล่านี้ในการขุดคลองร่วมกับแรงงานจ้าง ชาวจีน แขกจามที่เข้ามาเป็นทหารอาสา แรงงานเหล่านี้ได้ขอพระบรมราชานุญาต ตั้งบ้านเรือนตามแนวคลองปัจจุบันคือ บริเวณเจริญผลหรือที่รู้จักกันว่า “บ้านครัว”
ภาพจาก : มติชนออนไลน์
เมื่อการขุดคลองแสนแสบเสร็จเรียบร้อยแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ได้กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญและเริ่มมีราษฎรเข้าไปตั้งหลักแหล่งเพื่อเพาะปลูก พื้นที่นาบริเวณริมคลองแสนแสบกว้างไกลไปจนถึงบางขนากซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว เมืองฉะเชิงเทราและเป็นส่วนปลายของคลองแสนแสบ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่าประกาศขุดคลอง กำหนดว่าราษฎรที่ต้องการพื้นที่ทำนาต้องออกเงินช่วยค่าขุดคลอง ส่วนผู้ที่ยากจนให้ออกแรงช่วยแทน หากราษฎรคนใดปล่อยให้พื้นที่ที่จับจองนั้นว่างเปล่าเป็นเวลา 5 ปีรัฐมีสิทธิเรียกที่ดินนั้นคืน ขณะเดียวกันก็งดเว้นภาษีที่นาและอากรสมพัตสรให้เป็นเวลา 3 ปี สำหรับผู้บุกเบิกจับจอง ต่อมาใน พ.ศ. 2444 รัฐเริ่มออกโฉนดที่ดินเป็นการให้กรรมสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของอย่างถาวร ไม่ว่าจะทำประโยชน์หรือไม่ก็ตาม
การขุดคลองนี้มีทั้งที่รัฐดำเนินการเองทั้งหมดและที่รัฐกับราษฎรร่วมกันออกเงินจ้างชาวจีนขุด แต่โดยเหตุที่ผู้ขุดคลองจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินสองฝั่งคลอง เพื่อใช้เพาะปลูกหรือขายต่อแล้วแต่ความเหมาะสมจากนโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวดังกล่าวทำให้มีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งบ้านเรือนตามริมคลองแสนแสบมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้คลองแสนแสบเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งและค้าขายมากขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบันคลองแสนแสบอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ คลองแสนแสบใต้ เริ่มจากคลองมหานาค ผ่านวัดพระยายัง บ้านครัว หัวหมาก และคลองแสนแสบเหนือ เริ่มจากหัวหมาก คลองตัน บางขนาก ไปออกแม่น้ำบางปะกง รวมเป็นเส้นทางทั้งสิ้น 73.8 กิโลเมตร ความเป็นมาของคลองแสนแสบที่ผ่านกาลเวลามากว่า 100 ปี แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชุมชนริมฝั่งคลองได้อย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามกระแสสังคมและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้วิถีการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยตามแนวคลองแสนแสบมีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
คลองแสนแสบกับ มศว
เส้นทางคมนาคม : คลองแสนแสบเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมต่อมศว ประสานมิตร เข้ากับพื้นที่โดยรอบ นักศึกษาและบุคลากรจำนวนมากใช้เรือโดยสารคลองแสนแสบในการเดินทางไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยและที่พักอาศัย
แลนด์มาร์ค : มศว ประสานมิตร กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่มองเห็นได้จากคลองแสนแสบ ทำให้ผู้คนจดจำและรู้สึกคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้
โครงการอนุรักษ์ : มศว ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์คลองแสนแสบ โดยมีโครงการต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมทำความสะอาดคลอง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย
แหล่งท่องเที่ยว : คลองแสนแสบเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีชุมชนเก่าแก่ริมคลองแสนแสบ และมีกิจกรรมให้ทำมากมาย
ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ: มศว ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการอนุรักษ์คลองแสนแสบ
ภาพจาก : ส่วนกิจการเพื่อสังคม มศว
ภาพจาก : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เรียบเรียงโดย
ส่วนงานบริหารหอจดหมายเหตุและศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เอกสารอ้างอิง
ข่าวสดออนไลน์. 2559. คลองแสนแสบมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่. เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เผยแพร่เมื่อ 10 ตุลาคม 2559. เผยแพร่ผ่านทาง https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_44179
ศิลปวัฒนธรรม. 2567. คลอง “แสนแสบ” ชื่อนี้มาจากไหน หรือจะมาจากยุง?. เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เผยแพร่เมื่อ 30 มีนาคม 2567. เผยแพร่ผ่านทาง https://www.silpa-mag.com/culture/article_14358
สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3) 114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306 โทรสาร : 0 2261 2096อีเมล : icaswu@gmail.com