Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ
image

นิทรรศการออนไลน์
คลองแสนแสบ : จากอดีตสู่ปัจจุบัน

          "แสงอาทิตย์ยามเช้าสาดส่องลงบนผิวน้ำคลองแสนแสบ เสียงเรือหางยาวแล่นผ่านเบาๆ ริมสองฝั่งคลองเรียงรายไปด้วยบ้านเรือนและต้นไม้เขียวขจี นี่คือภาพที่คุ้นเคยของคนกรุงเทพฯ แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะมาเป็นคลองแสนแสบที่เราเห็นทุกวันนี้ คลองสายสำคัญของกรุงเทพฯ แห่งนี้ผ่านเรื่องราวและการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน" สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ ขอนำเสนอ คลองแสนแสบ: เส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพฯ ถึงเรื่องราวความเป็นมาของคลองแสนแสบ รวมไปถึงมีความสำคัญกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอย่างไร? สามารถรับชมนิทรรศการออนไลน์ คลองแสนแสบ: จากอดีตสู่ปัจจุบัน

image

                                  ภาพจาก : PRSWU

          คลองแสนแสบ เป็นหนึ่งในคลองสำคัญของกรุงเทพมหานคร มีความยาวประมาณ 72 กิโลเมตร ไหลผ่านหลายเขตของกรุงเทพฯ เชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง นอกจากจะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญแล้ว คลองแสนแสบยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และปัจจุบันนี้ยังมีบทบาทสำคัญในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย

ที่มาของชื่อ "แสนแสบ"

1: ยุงร้าย สันนิษฐานว่าชื่อแสนแสบอาจมาจากความเจ็บแสบของชาวบ้านที่ถูกยุงกัด เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชั้นดี

2 : ภาษาศาสตร์ นักภาษาศาสตร์บางรายเชื่อว่าชื่อแสนแสบอาจเพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า "Su-ngai Senyap" หมายถึง คลองเงียบสงบ ตรงกับลักษณะกระแสน้ำในคลองนี้
          คลองกับวิถีชีวิตไทย
         ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยนั้นมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับแม่น้ำลำคลองอย่างยาวนาน โดยเหตุที่อาณาจักรสยามตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำ ขอบเขตของเมืองนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจึงถูกกำหนดโดยแนวโค้งของแม่น้ำ คือ แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงโปรดฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบริเวณที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งอยู่หลายสาย วิถีชีวิตของผู้คนจึงมีความผูกพันกับแม่น้ำลำคลองไม่ว่าจะเป็นการตั้งบ้านเรือน การประกอบอาชีพ การสัญจรไปมา ฯลฯ ที่ต้องอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลักเสมอ





image
           ภาพจาก : NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย
image

                        ภาพจาก : ศิลปวัฒนธรรม silpa-mag.com

          การขุดคลองแสนแสบ 
          คลองแสนแสบเป็นคลองขุดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นตั้งแต่บริเวณที่เรียกว่าทุ่งปทุมวันซึ่งอยู่นอกเขตพระนครไปจนถึงบางขนาก เมืองฉะเชิงเทรา มีความยาว 1337 เส้น 9 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา ผ่านท้องทุ่งสำคัญ คือ ทุ่งบางกะปิ ทุ่งคลองตัน ทุ่งมีนบุรี และทุ่งหนองจอก ผู้เป็นแม่กองรับผิดชอบการขุดคือพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัด) โดยอาศัยแรงงานชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เครื่องทุ่นแรงชนิดหนึ่งที่ใช้ช่วยในการขุดคือ กระบือ โดยให้กระบือเหยียบย่ำลงไปในโคลนเลนที่ขุดไว้เพื่อให้ลำคลองมีความลึก และเป็นไปได้ว่าคลองที่ขุดและคลองที่ซ่อมแซมในรัชกาลนี้ใช้วิธีการเดียวกันนี้เกือบทั้งหมด


........

วัตถุประสงค์ในการขุดคลองแสนแสบ

          1. เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวนไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ในส่วนของเขมรและญวนนั้น เขมรเป็นประเทศราชของไทยมาช้านานแต่ถูกญวนเข้าครอบงำ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามดึงเขมรให้กลับมาอยู่ใต้การปกครองของไทยเช่นเดิม ต่อมาเมื่อญวนเกิดความไม่สงบภายใน ฝ่ายกบฏได้ขอความช่วยเหลือมาทางไทยในการแยกดินแดนญวนใต้ออกมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การเข้าแทรกแซงนี้จะทำให้ปัญหาเรื่องเขมรยุติลงได้และจากจุดนี้จึงเป็นการเริ่มต้นของสงครามอันยืดเยื้อยาวนาน ระหว่างไทยกับญวนที่เรียกว่า “อันนัมสยามยุทธ” ซึ่งใช้เวลานานร่วม 14 ปี ในส่วนความสัมพันธ์กับลาวนั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ได้เกิดเหตุการณ์การปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ. 2396 ไทยส่งกองทัพไปปราบปรามจนสำเร็จและกวาดต้อนผู้คนกลับมาเป็นจำนวนมาก

          จากการที่พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของพระนครยังเป็นที่รกร้าง เป็นป่าและท้องทุ่ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นทางที่จะนําไปสู่หัวเมืองชายขอบทางชายแดนภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งข้าวแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ การจะเข้าถึงหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนบรรดาประเทศราชในบริเวณนั้นให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ นั่นคือการ “สร้างทางใหม่” ที่เชื่อมต่อระหว่างพระนครกับเมืองดังกล่าว เส้นทางใหม่ที่ว่านี้คือคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกที่สุดในเวลานั้น การขุดคลองแสนแสบเพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำบางปะกงที่เมืองฉะเชิงเทรา จึงน่าจะเป็นการสนองนโยบายนี้ได้อย่างเด่นชัดและช่วยย่นระยะการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังดินแดนทางด้านตะวันออกได้มากกว่าการเดินทางโดยทางบก

image
                              ภาพจาก :  Explore World
image

    ภาพจาก :  Siam, Thailand & Bangkok Old Photo Thread 

         2. เพื่ออํานวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง การค้าขาย และการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่รัฐ การขุดคลองแสนแสบใน พ.ศ. 2380 แม้ว่าจุดประสงค์หลักอยู่ที่การใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ แต่การได้ประโยชน์จากการขยายขอบเขตการค้าขายภายในประเทศให้กว้างขวางขึ้น โดยอาศัยคลองแสนแสบเป็นหนทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย คลองแสนแสบซึ่งปลายคลองอยู่ที่ ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงน่าจะเป็นเส้นทางคมนาคมและขนส่งผลผลิตทางการเกษตร คือข้าวและน้ำตาล มายังพระนครและช่วยให้การคมนาคมระหว่างพระนครกับฉะเชิงเทราเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้การขุดคลองแสนแสบยังเป็นการเปิดพื้นที่สองฝั่งคลองให้เป็นที่นาสำหรับปลูกข้าวได้เพิ่มมากขึ้น เป็นเส้นทางคมนาคมภายในที่พ่อค้านําสินค้าไปขายยังชุมชนหรือหมู่บ้านที่อาศัยตามแนวคลอง สินค้าส่วนใหญ่มาจากเรือสินค้าของต่างชาติหรือเข้ามากับเรือสำเภาของไทยเอง เช่น ผ้าลาย ผ้าแพรจีน ผ้าฝ้าย เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องลายคราม เครื่องเหล็ก หมึกจีน ยาเส้น แว่นตา ตะปู สบู่ แป้งสาลีเป็นต้น เมื่อคลองแสนแสบกลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตทางด้านตะวันออกมายังพระนคร รัฐจึงตั้งด่านภาษีไว้ตามรายทางเพื่อเรียกเก็บภาษีสินค้า เช่น ด่านภาษีที่วัดภาษี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่แขวงคลองตัน เขตพระโขนง ริมคลองแสนแสบ ผลพลอยได้จากการขุดคลองแสนแสบคือเกิดการขยายตัวของชุมชนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งตามริมคลองแสนแสบ เช่น ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนภาคใต้ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์และเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่สี่แยกบ้านแขก ทุ่งครุ บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก บ้านอู่ สามแยกท่าไข่ ปากลัด นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี และอยุธยา ชุมชนมุสลิมเชื้อสายจาม – เขมร ที่เข้ามารับราชการเป็นทหารอาสาตั้งแต่สมัยอยุธยาและได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งบ้านเรือนนอกเขตพระนครตรงบริเวณที่เป็นคลองแสนแสบใต้หรือบริเวณเจริญผล ในปัจจุบันชุมชนมุสลิมจากชวาที่กระจายอยู่ทั่วไปรวมทั้งในบริเวณทุ่งแสนแสบด้วย นอกจากนี้มีชุมชนชาวลาว แถบเมืองมีนบุรีและฉะเชิงเทรา ชุมชนชาวมอญที่เมืองมีนบุรี หนองจอก และชุมชนชาวจีน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่หัวหมากเรื่อยมาจนถึงบางขนาก ชุมชนเหล่านี้โดยมากจะมีอาชีพเป็นชาวนาและปลูกพืชผลทางการเกษตร

image
 ภาพจาก : pinterest

พัฒนาการของคลองแสนแสบกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง         

         ภายหลังการขุดคลองแสนแสบใน พ.ศ. 2380 คลองนี้มีพัฒนาการมาโดยตลอดทั้งในเรื่องของการใช้ประโยชน์และการใช้พื้นที่ริมฝั่งคลองจากที่เคยรกร้างเป็นส่วนใหญ่ก็กลับมามีผู้คนอาศัยทำการเพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของรัฐและประชาชน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแสนแสบนั้น บริเวณแถบนี้ยังคงเป็นท้องทุ่งที่มีอาณาเขตกว้างขวางและรกร้างว่างเปล่ามาก่อนเช่นเดียวกับทุ่งบางกะปิ ทุ่งวัวลำพองและทุ่งสามเสน เมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ พ.ศ. 2369 ข้าวเป็นสินค้าออกที่สำคัญทำให้รัฐต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มแรงงานหรือกําลังคนในการผลิตด้วย กําลังคนที่ว่านี้โดยส่วนใหญ่คือเชลยที่ถูกกวาดต้อนภายหลังศึกสงคราม เชลยส่วนหนึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหลักแหล่งบริเวณริมคลองแสนแสบที่ขุดขึ้นใหม่ซึ่งยังรกร้างว่างเปล่าอยู่มากและให้ทำนาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่รัฐ นอกจากนี้ยังมีเชลยที่เป็นแขกมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งกองทัพไทยยกทัพลงไปปราบกบฏที่เมืองไทรบุรีและปัตตานีด้วย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหลักแหล่งที่บริเวณประตูน้ำ มีนบุรี หนองจอก พระโขนง คลองตัน มหานาค ซึ่งอยู่ในท้องทุ่งแสนแสบรวมไปถึงเมืองฉะเชิงเทราที่ปลายทางของคลองอีกด้วย 13 เชลยจากเมืองไทรบุรี กลันตัน รัฐเคดะ และปินังได้ตั้งบ้านเรือนที่ตำบลทรายกองดิน เมืองมีนบุรี ในเวลานั้นการขุดคลองแสนแสบยังดำเนินอยู่ รัฐจึงได้แรงงานเชลยเหล่านี้ในการขุดคลองร่วมกับแรงงานจ้างชาวจีน แขกจามที่เข้ามาเป็นทหารอาสา แรงงานเหล่านี้ได้ขอพระบรมราชานุญาต ตั้งบ้านเรือนตามแนวคลองปัจจุบันคือ บริเวณเจริญผลหรือที่รู้จักกันว่า บ้านครัว

image
        ภาพจาก : NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย


image

                            ภาพจาก : มติชนออนไลน์

          เมื่อการขุดคลองแสนแสบเสร็จเรียบร้อยแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ได้กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญและเริ่มมีราษฎรเข้าไปตั้งหลักแหล่งเพื่อเพาะปลูก พื้นที่นาบริเวณริมคลองแสนแสบกว้างไกลไปจนถึงบางขนากซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว เมืองฉะเชิงเทราและเป็นส่วนปลายของคลองแสนแสบ

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่าประกาศขุดคลอง กำหนดว่าราษฎรที่ต้องการพื้นที่ทำนาต้องออกเงินช่วยค่าขุดคลอง ส่วนผู้ที่ยากจนให้ออกแรงช่วยแทน หากราษฎรคนใดปล่อยให้พื้นที่ที่จับจองนั้นว่างเปล่าเป็นเวลา 5 ปีรัฐมีสิทธิเรียกที่ดินนั้นคืน ขณะเดียวกันก็งดเว้นภาษีที่นาและอากรสมพัตสรให้เป็นเวลา 3 ปี สำหรับผู้บุกเบิกจับจอง ต่อมาใน พ.ศ. 2444 รัฐเริ่มออกโฉนดที่ดินเป็นการให้กรรมสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของอย่างถาวร ไม่ว่าจะทำประโยชน์หรือไม่ก็ตาม

          การขุดคลองนี้มีทั้งที่รัฐดำเนินการเองทั้งหมดและที่รัฐกับราษฎรร่วมกันออกเงินจ้างชาวจีนขุด แต่โดยเหตุที่ผู้ขุดคลองจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินสองฝั่งคลอง เพื่อใช้เพาะปลูกหรือขายต่อแล้วแต่ความเหมาะสมจากนโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวดังกล่าวทำให้มีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งบ้านเรือนตามริมคลองแสนแสบมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้คลองแสนแสบเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งและค้าขายมากขึ้นตามไปด้วย

          ปัจจุบันคลองแสนแสบอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ คลองแสนแสบใต้ เริ่มจากคลองมหานาค ผ่านวัดพระยายัง บ้านครัว หัวหมาก และคลองแสนแสบเหนือ เริ่มจากหัวหมาก คลองตัน บางขนาก ไปออกแม่น้ำบางปะกง รวมเป็นเส้นทางทั้งสิ้น 73.8 กิโลเมตร ความเป็นมาของคลองแสนแสบที่ผ่านกาลเวลามากกว่า 100 ปี แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชุมชนริมฝั่งคลองได้อย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามกระแสสังคมและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้วิถีการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยตามแนวคลองแสนแสบมีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

คลองแสนแสบกับ มศว

          คลองแสนแสบ และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็นสองสิ่งที่ดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลกัน แต่แท้จริงแล้วมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ มศว ประสานมิตร ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ทำให้เกิดเป็นภาพที่คุ้นตาของนักศึกษาและผู้คนทั่วไปที่เดินทางผ่านไปมา

image
                                                           ภาพจาก : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

มศว ประสานมิตร และคลองแสนแสบ : ความผูกพันที่แยกไม่ออก

          เส้นทางคมนาคม : คลองแสนแสบเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมต่อ มศว ประสานมิตร เข้ากับพื้นที่โดยรอบ นักศึกษาและบุคลากรจำนวนมากใช้เรือโดยสารคลองแสนแสบในการเดินทางไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยและที่พักอาศัย

          แลนด์มาร์ค : มศว ประสานมิตร กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่มองเห็นได้จากคลองแสนแสบ ทำให้ผู้คนจดจำและรู้สึกคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้

          โครงการอนุรักษ์ : มศว ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์คลองแสนแสบ โดยมีโครงการต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมทำความสะอาดคลอง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย

          แหล่งท่องเที่ยว : คลองแสนแสบเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีชุมชนเก่าแก่ริมคลองแสนแสบ และมีกิจกรรมให้ทำมากมาย

          แหล่งเรียนรู้ : คลองแสนแสบเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม


image

Nullam et elementum nisi

Duis eget ultrices ante. Aenean molestie interdum ante, eget pellentesque ipsum dignissim vel. Proin posuere eros ac massa pharetra convallis. Interdum et malesuada fames ac ante ipsum primis in faucibus. Nunc tempus augue ut mi sollicitudin.
image

Morbi sollicitudin

Duis eget ultrices ante. Aenean molestie interdum ante, eget pellentesque ipsum dignissim vel. Proin posuere eros ac massa pharetra convallis. Interdum et malesuada fames ac ante ipsum primis in faucibus. Nunc tempus augue ut mi sollicitudin.
image

Sed et dolor quis lectus

Duis eget ultrices ante. Aenean molestie interdum ante, eget pellentesque ipsum dignissim vel. Proin posuere eros ac massa pharetra convallis. Interdum et malesuada fames ac ante ipsum primis in faucibus. Nunc tempus augue ut mi sollicitudin.
image                      เส้นทาง ในการมา มศว : ท่าเรือ มศว ประสานมิตร                                                   (เรือโดยสารคลองแสนแสบ)                                                   ภาพจาก : prswu ถ่ายภาพโดย : นายธวัชชัย ศรีมา  

image                 กลุ่ม Tarsh Hero Bangkok ร่วมกับกรุงเทพมหานคร                          และนิสิตคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกิจกรรมเก็บขยะในคลองแสนแสบ                      ภาพจาก :Trash Hero Bangkok 
image
                          นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ                                                     ร่วมกันพัฒนาคูคลอง ริมคลองแสนแสบ                                        ภาพจาก : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

บทบาทของมศว ในการอนุรักษ์คลองแสนแสบ

            มศว ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของคลองแสนแสบ โดยมีโครงการต่าง ๆ เช่น

โครงการวิจัย: นักวิชาการและนักศึกษาของมศว ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของคลองแสนแสบ และหาแนวทางแก้ไข

image                              ภาพจาก : ส่วนกิจการเพื่อสังคม มศว      

ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ : มศว ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการอนุรักษ์คลองแสนแสบ


       
image
                          ภาพจาก : ส่วนกิจการเพื่อสังคม มศว

image                                 ภาพจาก : ส่วนกิจการเพื่อสังคม มศว

โครงการบริการวิชาการ: มศว ได้จัดโครงการบริการวิชาการเพื่อให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์คลองแสนแสบแก่นักศึกษาและชุมชน
                            image                                    ภาพจาก : ส่วนกิจการเพื่อสังคม มศว

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประพาสทางชลมารค (คลองแสนแสบ) ผ่านบริเวณท่าเรือประสานมิตร 20 กันยายน 2537



image                  ภาพจาก : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ                                                        ภาพในอดีตของท่าเรือประสานมิตร
image
          ภาพจาก : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


image                                           ภาพจาก : prswu
                                 ภาพปัจจุบันของท่าเรือประสานมิตร

เรียบเรียงโดย

ส่วนงานบริหารหอจดหมายเหตุและศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เอกสารอ้างอิง

         ข่าวสดออนไลน์. 2559.  คลองแสนแสบมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่. เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เผยแพร่เมื่อ 10 ตุลาคม 2559.  เผยแพร่ผ่านทาง https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_44179

         ศิลปวัฒนธรรม.  2567.  คลอง “แสนแสบ” ชื่อนี้มาจากไหน หรือจะมาจากยุง?. เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เผยแพร่เมื่อ 30 มีนาคม 2567. เผยแพร่ผ่านทาง https://www.silpa-mag.com/culture/article_14358

         

          


สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2024 Copyright ICASWU
Back To Top