Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ
image

นิทรรศการออนไลน์
“ประวัติศาสตร์ไทย งามค่ามรดกโลก”

          “มรดกโลก” (World Heritage) คือ มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในขอบเขตดินแดนของประเทศใด ถือได้ว่าเป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งปวง

image
อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (The World Heritage Convention)

มรดกโลก คืออะไร ทำไมต้องมีการรับรอง ?

          คำว่า “มรดกโลก” (World Heritage) มีความหมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในขอบเขตดินแดนของประเทศใด ถือได้ว่าเป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งปวงในโลก

          ส่วนทำไมต้องรับรองมรดกโลก เพราะต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ให้ดำรงคุณค่าความโดดเด่นเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป

          เป็นไปตาม อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือ "อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก" (The World Heritage Convention) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 และโดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา

image
ภาพจากปกหนังสือ The Timeless Heritage of Thailand

มรดกโลก คืออะไร ทำไมต้องมีการรับรอง ?

          1. มรดกโลกทางวัฒนธรรม (Cultural World Heritage) ประกอบด้วย ผลงานสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม แหล่งโบราณคดี ที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลในมิติประวัติศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยา เช่น เมมฟิส และเนโครโพลิส - ทุ่งพีระมิดจากกีซาถึงดัชเชอร์ (Memphis and its Necropolis – the Pyramid Fields from Giza to Dahshur) ประเทศอียิปต์

          2. มรดกโลกทางธรรมชาติ (Natural World Heritage) ประกอบด้วย ลักษณะทางกายภาพและทางชีวภาพ หรือกลุ่มสภาพทางธรรมชาติ ที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลในมิติวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ และความงดงามตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน (Grand Canyon National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา ภูมิทัศน์หินผาอันสวยงามตระการตาเกิดจากการสึกกร่อนของหิน ประกอบกับการยกตัวของเปลือกโลก จนกลายเป็นร่องเหวลึกสลับซับซ้อน ซึ่งต้องใช้เวลานับล้านปี

          3. แหล่งมรดกโลกแบบผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Mixed Cultural and Natural World Heritage) พิจารณาจากแหล่งที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ส่วนใด ส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติ เช่น ภูเขาไท่ซาน (Mount Taishan) ประเทศจีน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นภาพสะท้อนคติทางความเชื่อในวัฒนธรรมจีน

          กระบวนการประเมินคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลที่ใช้ในการพิจารณาแหล่งเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ก็คือ "เกณฑ์การพิจารณาแหล่งมรดกโลก (World Heritage Criteria)" ซึ่ง UNESCO ได้กำหนดให้มีเกณฑ์ในการพิจารณา "คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value)" ตามเอกสารแนวทางการอนุวัติตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก จำนวน 10 ข้อ ด้วยกัน โดยแบ่งเป็น เกณฑ์ทางด้านวัฒนธรรม จำนวน 6 ข้อ และ เกณฑ์ทางด้านธรรมชาติ จำนวน 4 ข้อ

          หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก แหล่งที่จะได้รับการคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในบัญชีมรดกโลกจะต้องมีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value; OUV) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างน้อย 1 ข้อจากที่ได้กำหนดไว้ทั้งหมด 10 ข้อตามแนวทางอนุวัติตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention ดังนี้
image
ภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม
          หลักเกณฑ์ข้อที่ 1 : เป็นตัวแทนผลงานการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
          หลักเกณฑ์ข้อที่ 2 : แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใด ๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
          หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 4 : เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของสิ่งก่อสร้าง อันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 5 : เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมสถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามกาลเวลา

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 6 : มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ หลักเกณฑ์ทางธรรมชาติ

image
ภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เกณฑ์ทางด้านธรรมชาติ
          หลักเกณฑ์ข้อที่ 7 : เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความงามโดดเด่น หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก
          หลักเกณฑ์ข้อที่ 8 : เป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา ตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
          หลักเกณฑ์ข้อที่ 9 : เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาก่อให้เกิดและมีวิวัฒนาการของระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือ ชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

          สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะได้รวบรวมสถานที่ที่เป็นมรดกโลกในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 7 แหล่ง แบ่งเป็นทางด้านวัฒนธรรม 4 แหล่ง และทางด้านธรรมชาติ 3 แหล่ง มาไว้ในรูปแบบของนิทรรศการออนไลน์ นำพาทุกท่านไปยังแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยทั้งทางด้านวัฒนธรรมและด้านธรรมชาติ ทั้ง 7 แหล่ง สามารถรับชมนิทรรศการออนไลน์ ได้ที่ ลิงค์ต่าง ๆ ดังนี้

มรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม ได้แก่

1. นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya)

image
วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 1,810 ไร่ ในเขตเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังคงปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ งดงามและทรงคุณค่า สะท้อนให้รำลึกถึงความสง่างามของปราสาท ราชวัง วัดวาอาราม ป้อมปราการ และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีต
          นครประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นหลักฐานแสดงถึงความชาญฉลาดของชุมชนหนึ่ง นับตั้งแต่การเลือกที่ตั้งชุมชนในบริเวณที่มีแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึกศัตรูจากภายนอก
          หลักฐานแห่งอารยธรรมของชาวกรุงศรีอยุธยาส่งผลให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย
          หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
รับชมเพิ่มเติมกับ ThaiPBS : “อยุธยา” เมืองโลกาภิวัตน์โบราณ “Ayutthaya” The ancient city of Globalization | รากสุวรรณภูมิ ซีซัน 2 | http://youtu.be/oAj5nGEZOIk
ที่อยู่ : เกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เปิดให้เข้าชม : 08.30-16.30 น.
เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/AY.HI.PARK

2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)

image
วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

          เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชรเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ปรากฏหลักฐานร่องรอยของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นภาพของอาณาจักรสุโขทัยเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งบ้านเมืองในฐานะรัฐอิสระ จนกลายเป็นรัฐสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 เป็นเวลานานกว่า 200 ปี

          ด้วยความโดดเด่นนี้ ส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

รับชมเพิ่มเติมกับ ThaiPBS360VR Unseen in Thailand l Ep.8 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย l http://youtu.be/IgS7EdUskKM

ที่อยู่ : อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/Lk6qSkBY1kooH1PVA

เปิดให้เข้าชม : 06.30-19.30 น.

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/skt.his.park

3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site)

image
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

          แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวแทนวิวัฒนาการด้านวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีที่มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งในเรื่องของการเกษตร การผลิต และการใช้โลหะ โดยศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียง ที่ค้นพบมีทั้ง ภาชนะดินเผาสมัยต้น สมัยกลาง และสมัยปลาย ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สืบทอดยาวนานกว่า 5,000 ปี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนธันวาคม 2535 ณ เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา

         หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

รับชมเพิ่มเติมกับ ThaiPBS : สัมพันธ์ไทย – สหรัฐ ผ่านการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี | https://youtu.be/m0ZvG1XqDiU

ที่อยู่ : หมู่ที่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/PfaEHHaEQFZ16e1b9

เปิดให้เข้าชม : 09.00-16.00 น.

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/bcnmfinearts

4. เมืองโบราณศรีเทพ (Si Thep Historical Park)

image
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

          เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่กว่า 2,889 ไร่ แบ่งออกเป็นเมืองในและเมืองนอก เมืองในประกอบด้วย โบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และสระน้ำอีกกว่า 70 แห่ง เมืองนอกพบโบราณสถานที่ยังไม่ขุดแต่งและสระน้ำจำนวนมาก สะท้อนความรุ่งเรืองของเมืองโบราณศรีเทพที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8 - 18) โดยยังเห็นร่องรอยของชุมชนโบราณ เมือง แหล่งศาสนสถานรวมไปถึงยังขุดพบโครงกระดูกและข้าวของเครื่องใช้อีกมากมาย สะท้อนอารยธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดี

          เมืองโบราณคดีศรีเทพและแหล่งที่สัมพันธ์กันคือ เมืองโบราณศรีเทพ  เขาคลังนอก ถ้ำเขาถมอรัตน์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2566 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ณ เมืองริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 2 : แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

รับชมเพิ่มเติมกับ ThaiPBS : เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย | ปักหมุดจุดว้าว https://www.youtube.com/watch?v=bI3-OysTzu8

ที่อยู่ : ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/YEbf6HMwzBhcxcrP7

เปิดให้เข้าชม : 08.30-16:30 น.

เว็บไซต์https://www.facebook.com/profile.php?id=100064352844653


มรดกโลกทางด้านธรรมชาติ ได้แก่

1เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries)

image
าพวัวแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง (ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก) เป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการประเมินคุณค่าให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2534

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ได้รับการยกย่องให้เป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่รวมประมาณ 6,222 ตารางกิโลเมตร หรือ 388,750 ไร่

          นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ของประเทศที่เป็นตัวแทนแสดงลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของผืนป่าในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภูมิศาสตร์ถึง 4 เขต คือ อินโด - หิมาลายัน ซุนดา อินโด - เบอร์มิส และอินโดจีน รวมทั้งเป็นถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ทั้ง 4 เขต อีกทั้งที่ราบฝั่งตะวันออกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นบริเวณที่โดดเด่นที่สุด เป็นตัวแทนระบบนิเวศป่าเขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก

          ทั้งนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2503 (ปรับปรุงแก้ไขปีพุทธศักราช 2535) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าที่นับวันจะลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ กฎหมายฉบับนี้จึงมีความเข้มงวดมากกว่ากฎหมายป่าไม้ฉบับอื่นๆ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการโดยตรง คือ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

รับชมเพิ่มเติมกับ ThaiPBS : พื้นที่ชีวิต : ชีวิตที่ห้วยขาแข้ง | http://youtu.be/5Xjuy0Avg14

ที่อยู่ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี

พิกัด : https://goo.gl/maps/vZchTXb5AcEPHoPd7

เปิดให้เข้าชม : 06.30-15.30 น.

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Huai-Kha-Khaeng-Wildlife-Sanctuary

2. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)

image
ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  ภาพจาก OUR PLACE The World Heritage Collection

          กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ พื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น 3,854,083.53 ไร่ หรือ 6,152.13 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ โดยด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์ (Banteay Chmor) ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ (Protected Landscape) ของประเทศกัมพูชา

          รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่อนาคต จึงได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่าเขาใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณดงพญาเย็นของเทือกเขาพนมดงรักให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งนับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย เมื่อปี 2505

          รัฐบาลชุดต่อ ๆ มาได้ประกาศให้ป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยา เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2524 2525 และ 2539 ตามลำดับ รวมทั้งประกาศป่าดงใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยา ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี 2539

          การประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ทำให้ผืนป่าบริเวณนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่า “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่” ซึ่งเชื่อว่าเอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและถูกหลักการ

          อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ - ปางสีดา - ทับลาน - ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่” จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

รับชมเพิ่มเติมกับ ThaiPBS : คิดถึงธรรมชาติสีเขียว เที่ยวเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา : เที่ยวไทยไม่ตกยุค | | http://youtu.be/36fSs4R0ARA

ที่อยู่ : พื้นที่ป่าครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดบุรีรัมย์

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/skKRC2TMXym39Tx1A

เปิดให้เข้าชม : 08.00-16.30 น.

โทร : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 08-6092-6529

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/KhaoYaiNationalPark1962

3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex)

image
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

          กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909.84 ไร่

          กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วยถิ่นที่อาศัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ สัตว์ที่หายาก เช่น จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง ช้าง กระทิงรวมทั้งพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก มากกว่า 490 ชนิด ป่าผืนนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด และพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ผ่านการประชุมออนไลน์ ณ เมืองฝูโจว ประเทศจีน

          หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

รับชมเพิ่มเติมกับ ThaiPBS : ห้วยคมกฤต สุดยอดเส้นทางเรียนรู้ธรรมชาติ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี : เที่ยวไทยไม่ตกยุค | http://youtu.be/kv2jYpjPDnc

ที่อยู่ : พื้นที่บางส่วนในจังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/fnX6SPFAwmF8q2rD7

เปิดให้เข้าชม : 08.00-16.30 น.

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Kaengkrachannationalparkofficial


เอกสารอ้างอิง

          กองการต่างประเทศ.  2556.  มรดกโลก (World Heritage). เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เผยแพร่เมื่อ 2 กันยายน 2556.
เผยแพร่ผ่านทาง https://www2.m-culture.go.th/international/ewt_news.php?nid=121&filename=index 

          TrueID. 2566.  อัปเดต 7 มรดกโลกในไทย 2023 World Heritage Site โดย UNESCO มีที่ไหนบ้าง.
เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เผยแพร่เมื่อ 20 กันยายน 2566.  เผยแพร่ผ่านทาง https://travel.trueid.net/detail/3l1m1XoboQbl

          Thai PBS. 2566.  รู้จักมรดกโลก 7 แห่งในไทย ที่ยูเนสโกรับรอง มีที่ไหนบ้าง ?.
เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เผยแพร่เมื่อ 22 กันยายน 2566.  เผยแพร่ผ่านทาง https://www.thaipbs.or.th/now/content/357


จัดทำโดย

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2024 Copyright ICASWU
Back To Top