Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ
image

นิทรรศการออนไลน์
แด่...ปราชญ์ผู้ทรงศีล ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี

          ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ปราชญ์ผู้ทรงศีล บูรพาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักของประชาคม มศว ท่านคือ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา สถาบันอุดมศึกษาที่ให้ปริญญาทางด้านครูและการศึกษาเป็นที่แรก ช่วยยกระดับวิชาชีพครูให้มีฐานะทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ เป็นผู้นำการศึกษาแผนใหม่มาใช้กับการศึกษาไทยที่เรียกกันว่า การศึกษาแบบพิพัฒนาการ (Progressive Education) และเป็นผู้ประยุกต์หลักคำสอนในพุทธศาสนามาใช้กับการศึกษา สมดั่งฉายาที่ท่านได้รับคือ “ปราชญ์ผู้ทรงศีล” 

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงขอนำเสนอนิทรรศการออนไลน์ แด่... “ปราชญ์ผู้ทรงศีล” ให้ทุกท่านได้รับชม

image

วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน

ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา

          ช่วงทศวรรษ 2490 ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่าในช่วงก่อนหน้านั้นจะมีมหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาอาชีพต่างๆ แล้ว และมีการเรียนการสอนวิชาชีพครูในบางแห่ง แต่ไม่มีที่ใดเลยให้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญา นั่นจึงส่งผลให้บรรดาผู้ปกครองไม่สนใจจะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสาขาทางด้านการศึกษา และส่งผลต่อเนื่องไปถึงครูที่จบออกมาก็ไม่มีคุณภาพซึ่งจะต้องออกไปสอนในระดับประถม-มัธยม ก่อนหน้านั้นผู้ที่จบครูจะได้วุฒิประโยคครูประถมหรือมัธยมซึ่งต่ำกว่าระดับปริญญา ทำให้ผู้ที่สนใจจะเรียนครูมีน้อย ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวงการศึกษาไทย

          ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี กล่าวถึงความยากลำบากในเรื่องนี้ไว้ดังปรากฏใน บทความเรื่อง "บทบาทของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรีในการเผยแพร่แนวความคิดแบบพิพัฒนาการนิยม" ใน "รายงานการวิจัยเรื่องศึกษาแนวคิดทางการศึกษาและบุคลิกภาพแห่งความเป็นครูของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี" (2536) ว่า
          "ขณะนั้นในหมู่ประชาชน ความคิดที่ว่าจะให้ครูเรียนถึงปริญญายังไม่มี ดังนั้น การเสนอให้ครูมีการศึกษาถึงระดับปริญญาเป็นของที่แปลกมาก อีกประการหนึ่ง จะให้สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยประสาทปริญญานี้ยังไม่มีคนเข้าใจ ฉะนั้นเมื่อกฎหมายไปถึงพรรคเสรีมนังคศิลา (พรรครัฐบาลในเวลานั้น)แล้ว ผมก็ต้องไปชี้แจงหนักหน่วงมาก เพราะท่านผู้แทนราษฎรสมัยโน้นเขาไม่เข้าใจเลยว่าวิทยาลัยอะไรให้ปริญญา เป็นครู เป็นศึกษาธิการอำเภอจะต้องเอาปริญญาเชียวหรือ??

image
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี กำลังสอนนักศึกษา
image

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี อธิการคนแรกของวิทยาลัยวิชาการศึกษา

           ผมก็ต้องชี้แจงมากมายว่าจะต้องขยายการศึกษา ผู้คนจะต้องไม่หนีไปจากอาชีพครูหรีออาชีพบริหารการศึกษาเรื่องนี้สำคัญมาก ต้องดึงเขาเข้ามา ทั่วโลกเขาก็ทำกันแล้ว ชี้แจงให้เห็นว่าการศึกษาขั้นสูงนั้นทำได้ทั้งที่เป็น university และ college ในประเทศอเมริกาทำกันมากมาย ในอังกฤษก็ทำ"

          ที่สุดหลังชี้แจงเหตุผลแก่คณะรัฐบาล ในวันที่ 16 กันยายน 2497 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้น วิทยาลัยวิชาการศึกษาจึงถูกสถาปนาขึ้นมาในบริเวณเดียวกับโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการศึกษาให้ถึงระดับปริญญา นิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาจะได้วุฒิการศึกษาเป็นการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) จากวันนั้นจนถึงวันนี้ วุฒิ กศ.บ. จึงเป็นวุฒิการศึกษาที่มีอายุถึง 73 ปีแล้ว


อัตลักษณ์ มศว : ตราและสี

          เมื่อก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงใหม่ๆ สมัยนั้นยังไม่มีตราของโรงเรียน จนเมื่อมีการตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี จึงเป็นผู้คิดค้นตรากราฟนี้ขี้น เรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในหนังสือศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี รำลึก (2537) ศ.ดร.สาโรช ให้สัมภาษณ์ว่า

image
ตราบนปกหนังสือที่ระลึก พิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2503,2507,2513
          "ตราของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ผมเป็นผู้คิดครับ ตอนนั้น เราเป็นสถานศึกษาใหม่ๆ สีก็ไม่มี ตราก็ไม่มี บังเอิญตอนเรียนปริญญาตรีผมได้เรียนคณิตศาสตร์ จึงรู้ว่ามีเส้นกราฟอยู่เส้นหนึ่ง สมการของมันก็คือ y=ex เวลา plot กราฟแล้ว เส้นกราฟจะขึ้นเรื่อยไม่มีวันลง ประดุจจรวดขึ้นไปในอวกาศ...

          ...ถ้าเป็นการศึกษาที่เป็นภาวะแล้ว ก็อาจพูดได้ว่า การศึกษาคือการงอกงาม งอกงามไปเรื่อยๆ ไม่มีวันรู้จักจบสิ้น...ผมก็นึกอยู่ในตอนนั้นว่า เอ! เราจะเอาเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นความงอกงามนั้นมาทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไรเพราะมันเป็นนามธรรมก็รำลึกได้ทันทีว่า ทางวิชาคณิตศาสตร์ที่ผมเรียน มันมีเส้นกราฟนี้อยู่แล้ว จึงตกลงใจเอาเส้นกราฟนี้เลย..."

image
ภาพศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ณ อาคาร 3 ประสานมิตร

          ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี จึงนำเรื่องนี้ไปอธิบายในที่ประชุมสภาของวิทยาลัยซึ่งมีศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล อยู่ด้วย ท่านก็เห็นด้วย ที่ประชุมจึงมีมติให้ใช้ตรากราฟนี้เป็นตราประจำวิทยาลัยวิชาการศึกษาและในส่วนของสีนั้น ท่านให้สัมภาษณ์ว่า

          "ทีนี้เกี่ยวกับสีของวิทยาลัยอีกนะครับ สีนี่ ตอนนั้นก็คิดว่าเรากำลังจะต้องทำงานใหญ่ ทำคนเดียวนี่ไม่ได้ดอก จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากนิสิต นิสิตจะต้องรู้เรื่อง จะต้องเป็นกำลังออกไปฮึดสู้ พอนิสิตสำเร็จออกไป ก็จะต้องไปเปลี่ยนแปลง ไปเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น นิสิตจะต้องมีความกล้าหาญ แล้วก็จักต้องฉลาดเฉลียว กล้าหาญแต่ไม่ฉลาดเฉลียวก็ทำไม่ได้ ต้องทั้งฉลาดเฉลียวและกล้าหาญ


image
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี กราบบังคมทูลรายงาน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของวิทยาลัย

          ผมจึงเอาสีเลือดเป็นตัวแทนของความกล้าหาญ คือ สีแดง ทีนี้ความฉลาดเฉลียวก็ต้องใช้สีสมอง คือ สีเทา ดังนั้น จึงเอาสีเทาแดงเป็นสีทางราชการของวิทยาลัย สภาวิทยาลัยก็อนุมัติให้เป็นสีทางราชการได้ ดังนั้น ในเวลาทำเสื้อครุยปริญญา Hood หรือผ้าคล้องคอจึงเป็นสีเทา-แดง

          ในเวลาปัจฉิมนิเทศ โดยมาก ผมก็มักจะพูดปลุกใจนิสิตนักศึกษาโดยเอาสัญลักษณ์ของวิทยาลัยของเรามาบอกว่าจะต้องออกไปด้วยความกล้าหาญนะ ไปเปลี่ยนแปลงนะ แล้วจะต้องเฉลียวฉลาดนะ ในทำนองนี้ แล้วก็จะต้องแสดงความสามารถทางวิชาการให้เห็นประดุจเป็นนักปราชญ์คนหนึ่ง ต้องมีความประพฤติที่ดีนะ"

        ทั้งหมดนี้ เราจะเห็นถึงความคิดของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรีที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบตราและสีของวิทยาลัย ที่สืบทอดมาเป็นอัตลักษณ์ของ มศว


image
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี 

ปราชญ์ผู้ทรงศีล

          คำนี้ เป็นคำที่คณาจารย์ที่ได้เรียนกับศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี กล่าวยกย่องเอาไว้ เนื่องจากท่านเป็นผู้ประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพุทธศาสนา มาปรับใช้กับการเรียนการสอนในวิทยาลัย ขอยกตัวอย่างหนึ่ง คือ การนำหลักอริยสัจ 4 มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์

image
คติพจน์ของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี
ขั้นของอริยสัจ 4 ขั้นของวิธีทางวิทยาศาสตร์
1.ทุกข์
1.ปัญหา (Problem)
2.สมุทัย
2.สมมติฐาน (Hypothesis)
3.นิโรธ
3.ทดลองจนได้ผล (Experimenting)
4.มรรค

4.วิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data)
5.สรุปผล (Conclusion)

          นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบ คำว่า “ญาณ” ในทรรศนะของพุทธศาสนากับคำว่า insight ในทางจิตวิทยาไว้อีกด้วยเช่นกัน จากตัวอย่างที่ยกมาคือการแสดงให้เห็นถึงคำว่า “ปราชญ์ผู้ทรงศีล” ได้เป็นอย่างดี

          16 กันยายน 2565 ครบรอบ 68 ปี การก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา และถ้านับรวมตั้งแต่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงจะมีอายุ 73 ปี สถาบันแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม หากศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรียังมีชีวิตอยู่ ท่านคงจะชื่นชมและยินดีที่สถาบันแห่งนี้มีความก้าวหน้า เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานครสมดังความตั้งใจของท่าน หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันวัฒนธรรมศิลปะ ขอน้อมรำลึกในคุณูปการ “ปราชญ์ผู้ทรงศีล” ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ด้วยใจเคารพ

สุทธา

เรียบเรียงโดย

ส่วนงานบริหารหอจดหมายเหตุและศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2023 Copyright ICASWU
Back To Top