Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ
image

นิทรรศการออนไลน์
ของรัก...ของหวง

          ความเครียดทำให้คุณตื้อตันอยู่หรือเปล่า.....ลองหางานอดิเรกทำดูสิ เราเชื่อว่าหลายคนมีงานอดิเรกแต่ไม่รู้ว่านี่สิ่งที่ทำอยู่นั้นคืองานอดิเรก แต่หากถามว่ายามว่างเราชอบทำอะไร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลงศิลปินที่ชอบ หรือออกกำลังกาย นี่ก็นับว่าเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง สรุปได้ว่ากิจกรรมใดที่ทำให้เราผ่อนคลายจากความเครียดได้ก็นับว่าเป็นงานอดิเรก การสะสมของรักของหวงก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในงานอดิเรกที่ทำให้คนเราผ่อนคลายได้มากที่สุด

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ จึงได้จัดนิทรรศการ ของรัก...ของหวงขึ้น โดยให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยนำของสะสมมาแสดงและมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจร่วมกันผ่านนิทรรศการนี้

image

พระศรีอริยเมตตรัยหรือพระแก้วแดงของ รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล

จุดประกายของสะสม

          ความรัก ความศรัทธา เป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมพระพุทธรูปของ รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล และ รศ.ดร.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ รศ.ดร.สมชายเล่าว่า พระพุทธรูปองค์แรกคือพระศรีอริยเมตตรัยหรือ พระแก้วแดง ได้รับมาจากคุณพ่อตั้งแต่ปี 2555 การสะสมพระพุทธรูปนี้ทำให้ตนหมั่นฝึกจิตเป็นสมาธิและสวดมนต์เป็นประจำ และ รศ.ดร.ชาญวิทย์ ก็เช่นกัน เมื่อมีความเครียด จิตใจไม่สงบ ก็มานั่งสมาธิหน้าองค์พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยเราคลายความเครียดทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้

          เมื่อมีชะตาต้องกันการสะสมจึงเกิดขึ้น ผศ.ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย เล่าว่า ตนเองเป็นคนศึกษาด้านนาฏศิลป์ จึงบูชาพระพิฆเนศตั้งแต่สมัยเรียน แต่มีครั้งหนึ่งที่วัดในจังหวัดเชียงราย ในตอนนั้นกำลังทำพิธี พุทธาภิเษกอยู่ รู้สึกต้องชะตาพระพิฆเนศมาก แต่ในใจคิดว่าต้องมีคนจองหมดแล้ว เราก็ตั้งจิตว่าหากเรามีบุญพอขอให้ได้องค์ท่าน จึงลองเดินไปถามพระว่ายังสามารถบูชาได้ไหม ท่านบอกว่าได้ จึงบูชากลับมาจากเชียงราย จุดนี้เองทำให้กลายเป็นการสะสมพระพิฆเนศ
image
พระพิฆเนศของ ผศ.ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย
image

โครเชต์เนกไทที่คิดลายขึ้นเองของ อาจารย์ อภิธรรม กำแพงแก้ว

          จุดเริ่มต้นของนักสะสมต่างมีที่มาแตกต่างกัน บ้างเกิดจากการบ่มเพาะประสบการณ์ร่วมกับคนในครอบครัว การเห็นมันบ่อยๆ จนเกิดเป็นความชอบ ดังเช่น ผศ.ดร.วนิดา วิสุทธิพานิช ได้เห็นคุณแม่สะสมธนบัตรในยุคต่างๆ เมื่อมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ตนเองจึงสะสมต่อจากคุณแม่ อาจารย์อภิธรรม กำแพงแก้ว เป็นอีกหนึ่งคน ที่ได้รับอิทธพลจากคุณแม่ ตอนเด็กๆ คุณแม่จะให้พี่สาวคนโตเย็บผ้า คนรองปักผ้า ตนเองถักโครเชต์ ถักมาตั้งแต่อายุ 13 ปี เริ่มจากชิ้นเล็กๆ อย่างเนกไท ผ้าปูโต๊ะ และใหญ่ที่สุดคือผ้าคลุมเตียง ความสนุกคือคิดลายผ้าได้เอง
          ผศ.ดร.อัญชลี จันทร์เสม เล่าว่าเมื่อ 18 ปีที่แล้วลูกอายุ 2 ขวบ มีคนซื้อรถของเล่นให้ลูก แต่ตัวเองรู้สึกว่าชอบมาก เหมือนมีชีวิต พอลูกเริ่มโต ไม่สนใจ กลับกลายเป็นตนเองที่สนใจ การสะสมภาพจิตรกรรมของ รศ.พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ เริ่มจากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปะร่วมสมัย ศิลปะสมัยใหม่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เมื่อลูกศิษย์เรียนจบจึงมอบผลงานให้
image
รถเต่าสีน้ำเงินเป็นคันที่ชอบมากที่สุด ผศ.ดร.อัญชลี จันทร์เสม
image

พวงกุญแจที่บอกช่วงเวลาของ อาจารย์ ดร.ปรารถนา คงสำราญ

          ของสะสมคือจุดเริ่มต้นของความทรงจำ อาจารย์ ดร.ปรารถนา คงสำราญ เล่าถึงพวงกุญแจกล้วย ของสะสมชิ้นแรกที่ได้จากงานแต่งญาติ หรือจะเป็นพวงกุญแจจากสายน้ำเกลือ ที่เคยฮิตในช่วงปี 2530-2535 และบางชิ้นก็เป็นของขวัญจากองค์การนิสิตในวันรับน้องของมหาวิทยาลัย ทุกๆ ชิ้นมีเรื่องเล่าไม่รู้จบ
          ถ้าการท่องเที่ยวทำให้เราสนุกสนานแล้ว อย่าลืมของติดไม้ติดมือเพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำด้วยล่ะ ดังเช่น อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ได้เสือคู่แรกจากการเที่ยวพระราชวังที่เกาหลี เพราะเป็นศิลปะที่เกิดจากความประทับใจ หลังจากนั้นหากไปเที่ยวที่ใดก็จะมองหาเสือมาเก็บไว้ด้วย
image
คอลเลกชั่นรูปปั้นเสือจากการเดินทางของ อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์
image

ปากกา Lamy ของ อาจารย์ ดร.ปรัชญา เปี่ยมการุณ

          เมื่อเราใช้งานสิ่งของนั้นบ่อยๆ ได้เห็นมันในชีวิตประจำวันจนเกิดเป็นความรัก ความลุ่มหลงในของนั้นๆ จากหนึ่งเป็นร้อยชิ้น ดังเช่น อาจารย์ ดร.ปรัชญา เปี่ยมการุณ กับเพื่อนสนิท ผศ.ดร.จารุวัส หนูทอง นักสะสมปากกา Lamy เริ่มต้นจากการมองหาปากกาดีๆ ดีไซน์สวยแต่สะดวกใช้ Lamy จึงตอบโจทย์ กว่าสิบปีที่เก็บสะสมเรื่อยมาจนปัจจุบันมีร่วมหลักร้อย อาจารย์อัญชัน เปรมใจ ผู้เห็นเหรียญสิบทุกวันเนื่องจากที่บ้านเปิดร้านขายของ วันหนึ่งได้เหรียญซีเกมส์เป็นโลโก้เรือใบจึงแยกออกมาใส่สมุดสะสม หลังจากนั้นจึงเก็บเหรียญที่ทำในโอกาสพิเศษต่างๆ เรื่อยมา
          ความฝัน และจินตนาการในวัยเด็กคือจุดเริ่มต้นของความสนุกในการสะสมของรัก อาจารย์ ดร.ปิลันลน์ ปุณญประภา ผู้สะสมหุ่นจำลองเซนต์เซย่า เล่าว่า สมัยเด็กเรามีฮีโรในดวงใจ เซนต์เซยาเป็นการ์ตูนที่เราดูแล้วดูอีกไม่มีเบื่อ ดูแล้วยิ้มมีความสุขทุกครั้ง แค่ได้ยินโน้ตเพลงตัวแรกขึ้นมาก็รู้เลยว่าเป็นเพลงอะไร เข้าใจตัวละครจนถึงทุกวันนี้ เซนต์เซยามันคือความฝันกับของรักของหวงของเรา ที่สุดท้ายแล้วมันคือตัวเราเอง
image
หุ่นจำลองเซนต์เซย่าของ อาจารย์ ดร.ปิลันลน์ ปุณญประภา
image

หนังสือ Harry Potter ของ คุณประภากร กิตติยายาม

          คุณประภากร กิตติยายาม ผู้ยกโลกเวทมนตร์จากเรื่อง Harry Potter มาให้เราชม โดยคุณประภากรเล่าว่า ตัวเองดูภาพยนตร์ Harry potter แล้วสนุกมาก พอเริ่มโตได้เห็นโลกโซเชียลวิจารณ์ว่าภาพยนตร์นำเนื้อเรื่องจากวรรณกรรมมาเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เลยอยากสัมผัสโลกเวทมนตร์ให้มากกว่านี้ เลยซื้อหนังสือมาอ่าน 7 ภาค บวกกับหนังสือเสริมอีกมากมาย จนกลายเป็นสะสมโมเดล เครื่องแต่งกาย และได้เป็น Admin Page : Potterhead Thailand อีกด้วย
          กฤศณัฏฐ์ ดิลกศิริธนภัทธ์ มีความสนใจสะสมบาร์บีจากความบังเอิญที่ได้ดูโฆษณาประเภท print ad ของต่างประเทศที่นำเสนอ Barbie Silkstone ในแนว Hollywood Golden Age และ Vintage Style ประมาณ ค.ศ.1930-1950 ซึ่งดูมีเสน่ห์ ทั้งใบหน้าที่ดูเย่อหยิ่ง เฉี่ยว แต่แอบหวานละมุน ทรวดทรงเลียนแบบเหล่า superstar เสื้อผ้าตัดเย็บด้วยมือที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ระดับโลก
image
ตุ๊กตาบาร์บี้ที่ไม่ได้เป็นเพียงของเล่น ของคุณกฤศณัฏฐ์ ดิลกศิริธนภัทธ์

image

ภาพบรรยากาศในงานนิทรรศการ "ของรัก...ของหวง" 2563

จุดประกายของสะสม

นิทรรศการ "ของรัก...ของหวง" 2563

สร้างบ้านให้เป็นแกลอรี่.......รศ.พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ
          "งานสะสมของตนเองส่วนใหญ่จะนำมาตกแต่งที่อยู่อาศัย ทำให้บ้านคล้ายแกลลอรี่ มีงานจิตรกรรมประดับตั้งแต่ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องน้ำ ทางเดิน จะมีงานจิตรกรรมแขวนอยู่ทั้งหมด การสะสมงานจิตรกรรมของตนไม่ได้สะสมเพื่อเก็งกำไร แต่สะสมเพราะว่าเห็นว่ามันเหมาะกับการดำรงชีวิต คือได้ชื่นชมตอนตื่นนอน ได้ดูภาพสวยๆ ในบ้าน เพราะฉะนั้นบ้านที่เป็นของตนเองทั้งสองหลัง ก็จะมีการตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรม โดยจะกำหนดลักษณะและสีสันของภาพให้เข้ากับบรรยากาศของห้องเป็นหลัก"
image
รศ.พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ ให้สัมภาษณ์เรื่องการสะสมภาพจิตรกรรม
แสตมป์ที่ไม่เคยรู้.......ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ  แก้วสุทธา
          "แสตมป์แบบแรก เป็นแสตมป์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันที่เราเห็น เช่นแสตมป์รัชกาลที่ 9 พวกนี้จะใช้ติดไปรษณีย์เพื่อจะใช้ส่งกัน อีกแบบหนึ่งคือแสตมป์สะสม รูปในแสตมป์จะเป็นสถานที่สำคัญหรือโอกาสสำคัญ บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน สุดท้าย แสตมป์ตลก คือแสตมป์ที่มีแบบผิดเพี้ยนจากบล็อกพิมพ์ ซึ่งมันก็จะเกิดขึ้นได้และหายากมาก สมัยเด็กที่ผมเก็บเป็นการเก็บผิดวิธี ในความจริงจะนิยมเก็บพร้อมกับซองเลยเพื่อจะได้ดูประวัติศาสตร์ว่าแสตมป์ตัวนี้ส่งมาจากที่ใด และในส่วนของตราประทับนั้น ในความเป็นจริงมันมีความหมาย ปกติแสตมป์ใช้แล้วมันต้องดูตราประทับให้ครบ ซึ่งผมจะมีอีกหนึ่งกล่อง สำหรับเก็บซองจดหมายที่มีแสตมป์ติดมา มันก็จะดูมีประวัติศาสตร์ สามารถทราบได้ว่าใครส่งมาหาเรา"
image
การสะสมแสตมป์ของ ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ  แก้วสุทธา

สีสัน LAMY.......ผศ.ดร.จารุวัส หนูทองและอาจารย์ ดร.ปรัชญา เปี่ยมการุณ

          "ครั้งแรกที่ได้เห็นรูปลักษณ์ รูปร่าง สี ที่มีความน่าสนใจ การดีไซน์ที่คลาสสิกแต่ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ตกยุค แต่เมื่อได้เริ่มสะสมและศึกษาไปเรื่อยๆ ทำให้รู้ว่าปากกาลามี่ยังคงใช้ดีไซน์เดิมตั้งแต่ ค.ศ. 1980 จนถึงทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปเพียงแค่สี และนี่จึงยังเป็นจุดเด่นของลามี่ที่ยังครองใจทุกคน...ความคลาสสิกที่ยังคงอยู่และยังคงตามหาอยู่นั้นมี 3 สีหลัก คือ สีขาว สีเขียวทหาร และสีส้มอิฐ หลังจากนั้นก็จะมีการตามเก็บสีเฉพาะที่ออกมาอย่างเจาะจงในแต่ละปี ซึ่งจะออกมาปีละ 1 สีเพื่อเป็นสีลิมิเต็ด นอกจากนี้จะมีการผลิตสีเพื่อการเฉลิมฉลองในวาระพิเศษ เช่น วาระความสัมพันธ์เยอรมันกับญี่ปุ่น หรือวาระพิเศษของสวีเดน เป็นต้น ดังนั้นในยุคแรกๆ สีจะไม่หลากหลายสีจะผูกกับ ค.ศ.ในแต่ละปีเท่านั้น และในแต่ละปีก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น สีเขียวในปี 2008 กับสีเขียวในปี 2012 จะมีความแตกต่างของเฉดสี และจะไปเน้นรายละเอียดต่างๆ บนตัวด้าม เช่นการสลักในส่วนท้ายของด้าม โดยปกติจะมีการสลักว่า GERMANY แต่ในรุ่นที่หลายๆ คนตามหาคือ WEST GERMANY ซึ่งหมายถึงรุ่นที่ผลิตขึ้นในช่วงที่ประเทศเยอรมันยังแยกฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกออกจากกัน ยิ่งถ้าเป็น gen 1 จะยิ่งมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น รวมถึงปลายปลอกปากกาจะมีความแตกต่างที่น่าสนใจ ดังเช่นวัสดุที่ทำจากทองเหลืองวัสดุโลหะ หรือพลาสติก ผิวมัน ผิวด้าน ผิวที่ทำสีเดียวกับตัวด้ามกากบาท รูวงกลม ฯลฯ เหล่านี้แสดงออกถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นจุดเด่นของลามี่ที่มีความแตกต่างกัน"
image
ผศ.ดร.จารุวัส หนูทอง ให้สัมภาษณ์เรื่องการสะสมปากกา Lamy
image
อาจารย์ ดร.ปรัชญา เปี่ยมการุณ ให้สัมภาษณ์เรื่องการสะสมปากกา Lamy

          "ตัวตนของลามี่ คือดีไซน์ที่มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจากปากกาทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะที่บ่งบอกตัวตน เช่น กลุ่มสถาปนิก นักออกแบบ มีดีไซน์ค่อนข้างตายตัว ต่างกันแค่สีและผิวสัมผัส รวมถึงคลิปหนีบ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ออกแบบเพื่อบ่งบอกความเป็นประเทศนั้นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เป็นต้น หรือแม้แต่การร่วมมือกับ Line Application ของญี่ปุ่นที่ทำรุ่นหมีบราวน์ออกมา ซึ่งมีทั้งแบบนำตัวการ์ตูนหมีบราวน์เสียบที่ปลอก หรือรุ่นที่นำตัวการ์ตูนเสียบที่คลิป ให้นักสะสมได้เลือกหรือหามาจับจอง โดยส่วนตัวแล้วจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่มองและจับต้องได้ คือทุกคนสามารถเลือกสีหมึกให้ตรงกับด้ามปากกาได้ด้วย ความแตกต่างอีกอย่างคือการออกแบบหัวปากกาหมึกซึมที่มีความลื่นอย่างสม่ำเสมอ ความสนุกที่นักสะสมชอบเล่น คือ นอกจากความคลาสสิกของด้ามปากกา ยังสามารถสลับฟังก์ชันต่างๆ ทั้ง ตัวด้าม ปลอกปากกา ไส้ใน หัวปากกา รวมถึงตัวหมึก สามารถสลับสับเปลี่ยนใช้ร่วมกันได้ทุกส่วน เป็นทั้งความสนุกและเสน่ห์ที่ปากกายี่ห้ออื่นอาจจะทำไม่ได้ เหล่านักสะสมจึงชื่นชอบกันมาก"

image

อาจารย์ ดร.ปิลันลน์ ปุณญประภา ให้สัมภาษณ์เรื่องหุ่นเซนต์เซย่า

เซนต์เซยา ฮีโรที่ยังมีชีวิต.......อาจารย์ ดร.ปิลันลน์ ปุณญประภา
          "สมัยยังเด็ก เราจะมีตัวละครตัวหนึ่งที่เป็นฮีโร่ จะมีการ์ตูนสักกี่เรื่องที่เราดูได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วดูอีก ดูซ้ำโดยที่เราไม่เบื่อแล้วก็มีความสุข ยิ้มกับมันทุกครั้ง ได้ยินเพลงขึ้นมาโน้ตแรกรู้เลยว่าเพลงเรื่องนี้ ได้ยินชื่อตัวละคร เข้าใจตัวละคร จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีความสุขกับมัน ถามว่ามันเป็นความฝันไหม เป็นของรักของหวงไหม มันอาจจะสองอย่างรวมกัน หรือบางทีมันอาจจะมากยิ่งกว่านั้น มันคือตัวเราเองส่วนใหญ่คนที่ซื้อมาจะ "เซฟ" คือเก็บไว้ในกล่อง แต่ของตนเองจะแกะและเก็บไว้ในตู้กระจกเรียบร้อย แต่ไม่เคยเปิดไฟ ไม่เคยเปิดตู้ ล็อกตู้เสมอ และก็ไม่เคยให้ใครเข้ามา ตู้จะบิวท์อินอยู่ในผนังห้องนอนด้านหนึ่ง อุทิศให้เซนต์เซย่าอย่างเดียว ตั้งแต่ได้มาตัวแรกๆ ก็ตั้งใจไว้ว่าจะเก็บสะสมต่อจึงนำตู้เสื้อผ้าทั้งหมดออก และนำตู้เซนต์เซย่าเข้าไปแทน"
image

อาจารย์อพิชญา อังคะวิภาตให้สัมภาษณ์เรื่องกระเป๋า Freitag

Freitag กระเป๋ารักษ์โลกถ้าถูกใจให้รีบซื้อ.......อาจารย์อพิชญา อังคะวิภาต
          "เสน่ห์ของมัน คือสตอรี่ คือลวดลายที่ไม่ซ้ำกันเลย หรือว่าซ้ำ ก็จะอยู่คนละมุมโลก อย่างเช่นเราได้ที่ประเทศไทย แต่อีกใบหนึ่งที่ลายเหมือนกัน อาจจะอยู่ในอีกทวีป ก็เลยเป็นเสน่ห์ของกระเป๋าที่ทำให้คนอยากตามหาความที่มันเป็นลิมิเต็ด เพราะว่า FREITAG เมื่อถึงเวลาของรุ่นใดรุ่นหนึ่ง ทางแบรนด์ก็จะยกเลิกการขาย แปลว่าถ้าเราไม่ซื้อขณะนั้น ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่ามันจะมีขายอีกต่อไป อย่างเช่น หลายๆ รุ่นที่ 10 ปีที่แล้ว ที่บอกว่าอยากได้ แต่ยังไม่ได้ซื้อ ณ ตอนนี้ไม่มีแล้วหรืออย่างรุ่นนี้ (สีเขียว) มันเป็นรุ่นเฉลิมฉลองให้กับร้านทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่ทางแบรนด์จะทำ กลายเป็นว่ายิ่งมีมันยิ่งชาเลนจ์ว่าต้องมีให้ครบ อีกเรื่องหนึ่งคือลาย แน่นอนว่าแต่ละลายไม่เหมือนกันมีแค่ใบเดียว เป็นรุ่นที่เรียกว่า แรร์ไอเทมหรือรุ่นเฉพาะกิจ ซึ่งมันก็เลยทำให้การขายราคาค่อนข้างสูงมากขึ้น"
image

อาจารย์เอกลักษณ์ โภคทรัพย์ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์เรื่องชุด Happy Meal

Happy Meal เมื่อความยากคือความท้าทาย.......อาจารย์เอกลักษณ์ โภคทรัพย์ไพบูลย์
          "แรร์ไอเทมของเล่นชุด Happy Meal มันแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ เพราะว่าแต่ละแห่งในโลกจะมีขายไม่เหมือนกัน เช่น ชุดมินเนียนที่ไทยอาจมี 10 ตัว วางขาย 10 ตัว แต่เราไปดูแผงของโกลบอลเขามี 22 ตัว เราต้องไปหา ฉะนั้นหน้าที่ของเราคือต้องไปหาว่าอีก 12 ตัวที่เหลือนี่อยู่ทวีปใดบ้าง จะขายเป็นทวีปเป็นหลัก เช่นบางตัวก็ไปอยู่อเมริกาใต้ บางตัวไปอยู่มิดเดิลอีสต์ บางตัวไปอยู่อเมริกาเหนืออย่างเดียว บางตัวขายที่ยุโรปอย่างเดียว ถ้าถามว่าชุดไหนหายากสุด จะบอกว่ายากสุดทุกชุด"
image

คุณประภากร กิตติยายามให้สัมภาษณ์เรื่อง Harry Potter

Harry Potter กับความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น.......คุณประภากร กิตติยายาม
          "ก่อนหน้านี้ก็จะมีกลุ่มเฟซบุ๊กที่เป็นแฟนคลับของแฮรี่ พอตเตอร์ ไว้พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนสิ่งของกัน ชวนกันไปทำกิจกรรม ล่าสุดเราปิดโรงหนัง แล้วทุกคนแต่งตัวเต็มไปเลย เราไปแบบมีผ้าพันคอ มีชุดคลุม มีหมวก ไม้กายสิทธิ์ ทุกคนแต่งเต็มไปมากเหมือนพวกเราได้ไปย้อนวัยกลับไปเรียนฮอกวอตส์ ซึ่งตรงนี้มันเป็นความอบอุ่นที่บอกไม่ถูก ถ้าคนที่ไม่ได้สะสมหรือไม่ได้รักแฮรี่ พอตเตอร์ จะมองว่า มันเป็นแค่วรรณกรรมเรื่องเดียว มันดูไร้สาระ มันเป็นเรื่องของโลกเวทมนตร์ที่มันไม่มีอยู่จริง แต่สำหรับคนที่ลองเปิดใจแล้วจะรู้ว่าจริงๆ แฮรี่พอตเตอร์มันไม่ได้เกี่ยวกับโลกเวทมนตร์อย่างเดียว มันมีคติสอนใจ มันมีแนวทางในการดำเนินชีวิต ได้เรื่องมิตรภาพ ความดี ความชั่ว อยากให้ทุกๆ คนที่ยังไม่รู้จักแฮรี่ พอตเตอร์ ได้ลองเปิดใจดู ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จริงๆ แล้วในต่างประเทศเขามีวิจัยว่าเด็กที่โตมากับแฮรี่ พอตเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีนิสัยดี มีทัศนคติที่ดี เพราะฉะนั้นคุณจะได้รู้ว่าทำไมวรรณกรรมนี้ถึงได้รับการแปลถึง 60 กว่าภาษา ขายทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ อยากให้ลองเปิดใจกับหนูน้อยที่มีแผลบนหน้าผากแล้วคุณจะมีความสุขไปกับพ่อมดแฮรี่"
image

อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ให้สัมภาษณ์เรื่องเสือ

เสือทุกตัวมีเรื่องเล่า.....อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์
          "ชิ้นแรกคือเสือล้านนาไทย แกะจากไม้มะม่วง ซึ่งศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานภาพเขียนของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี โดยแกะสลักลายเส้นของกล้ามเนื้อ แทนการสร้างลวดลายซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินพื้นถิ่น หรือคู่เสือจากประเทศแอฟริกา แกะสลักจากหินพร้อมสร้างลวดลายโดยการขูดลงไปบนผิวหินก่อให้เกิดลายเสือดาวที่สวยงาม อีกตัวหนึ่งมาจากปักกิ่ง ประเทศจีน โดยได้รับอิทธิพลมาจากเสือที่อยู่หน้าแท่นบรรพบุรุษที่เป็นลักษณะเฉพาะของจีน โดยทุกตัวบ่งบอกเรื่องราวความเป็นอารยธรรมของพื้นถิ่นนั้นได้เป็นอย่างดี ตัวที่ประทับใจที่สุดมาจากธิเบต เป็นงานแกะสลักจากไม้ เป็นชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยคนตาบอด พิการมือทั้งสองข้าง ใช้วิธีการแกะสลักโดยใช้เท้าทั้งสองข้างและปากในการแกะสลัก ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นผลงานที่ประทับใจมากที่สุด"

ของสะสมให้อะไรเรา

การสะสมคืองานอดิเรก ทำให้เราผ่อนคลายจากการทำงานที่เคร่งเครียด

image
ภาพบรรยากาศการเปิดงานนิทรรศการ"ของรัก...ของหวง" 2563

          "เมื่อมองของสะสมมันทำให้เรามีความสุขเพราะทุกๆชิ้นล้วนมีความทรงจำ ความพยายาม ความอดทน ความมีวินัย ความใฝ่รู้ของสะสมไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรจะถูกหรือแพงจะมีคุณค่าสำหรับคนอื่นหรือไม่ ไม่สำคัญเลยขอเป็นสิ่งที่เราชอบมันจริงๆ เมื่อค้นพบสิ่งนั้นแล้วมันจะทำให้ชีวิตเรามีเป้าหมาย มีแรงผลักดันชีวิตได้เติมเต็ม เพราะความสุขของการสะสมไม่ได้อยู่ที่การครอบครอง แต่มันคือชีวิตระหว่างทาง นี่แหละคือเสน่ห์ของการสะสมของรักของหวง"

          งานอดิเรกสามารถเติมพลังบวกให้กับชีวิต สร้างความรื่นรมย์เพิ่มสุนทรียะ เพราะหากคุณเกิดความเครียดคุณสามารถหันไปทำงานอดิเรกเพื่อฟื้นฟูจิตใจให้แจ่มใสขึ้น แล้วกลับมาทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นแล้วไม่ว่างานอดิเรกของคุณจะคืออะไร ขอให้เป็นสิ่งที่คุณมีความสุขกับมันก็พอ

image
พระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร ของ รศ.ดร.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ
image
ธนบัตรที่ระลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 ของ ผศ.ดร.วนิดา วิสุทธิพานิช
image
แสตมป์ดวงแรกๆ ที่สะสมของ รศ.ทพ.ณรงค์ศักดิ์ เหล่าศรีสิน
image
หนังสือการ์ตูนโคนันจากแฟนพันธุ์แท้โคนัน ปี 2012 ของคุณพิมพ์ชนก พัฒนสุข
image
กาเมลัน (Gamelan) เป็นเครื่องดนตรีประจำชาติของอินโดนีเซียของอาจารย์ ดร.สุรศักดิ์  จำนงค์สาร
image
พวงกุญแจของอาจารย์ ดร.ปรารถนา คงสำราญ
image
ไพ่คารุตะ (โองุระเฮียะกุนินอิชชุ) หรือไพ่กลอน 100 บท  ของชมรมคารุตะกรุงเทพ
image
ชุดของเล่น Happy Meal ของอาจารย์เอกลักษณ์ โภคทรัพย์ไพบูลย์
image
ตุ๊กตาบาร์บี้ของคุณกฤศณัฏฐ์ ดิลกศิริธนภัทธ์
image
สีสัน LAMY ของ ผศ.ดร.จารุวัส หนูทอง
image
เสือทุกตัวมีเรื่องเล่า ของ อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์
image
Freitag กระเป๋ารักษ์โลกของ อาจารย์อพิชญา อังคะวิภาต
image
ธนบัตรราคา 1 บาท ของ ผศ.ดร.วนิดา วิสุทธิพานิช
image
โมเดล Harry Potter ของคุณประภากร กิตติยายาม
image
ภาพผลงานจิตกรรมสะสม ของ รศ.พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ
image
สะสมแสตมป์ ของ ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ  แก้วสุทธา

เรียบเรียงโดย

ส่วนงานบริหารหอจดหมายเหตุและศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2023 Copyright ICASWU
Back To Top