Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ
image

นิทรรศการออนไลน์
FEEL THE SPACE

พื้นที่ที่ศิลปินศิลปาธร 2 ท่านได้วาดลวดลายชีวิตและความรู้สึกเอาไว้ ในโครงการมหกรรมวัฒนธรรมและศิลปะนานาชาติ : Galleries Night 2021 ของสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

image
ภาพจากรายการ FEEL THE SPACE ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564

          ในปีนี้สถาบันได้รับความร่วมมือจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ผู้ร่วมสนับสนุนการสร้างสรรค์แก่ศิลปินศิลปาธร 2 ท่าน คือ มานพ มีจำรัส หรือครูนาย ศิลปินศิลปาธรปี 2548 สาขาศิลปะการแสดง และ วรรณศักดิ์ ศิริหล้า หรือครูกั๊ก ศิลปินศิลปาธร ปี 2563 สาขาศิลปะการแสดง พ่วงด้วยรางวัลสุพรรณหงส์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ปี 2554 ในปีนี้เราได้แสดงงานศิลปะแบบ Physical Distancing ผู้ชมรับชมผ่านทาง Facebook Live Fanpage สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา กว่าจะเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ผู้ชมได้เห็นนี้ ศิลปินได้ผ่านการปรับแก้การแสดงอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยความมากประสบการณ์และความเก่งกาจทำให้อุปสรรคต่างๆ กลับกลายเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย


มานพ มีจำรัส

ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2548

image
“FEEL THE SPACE สิ่งแรกเลยที่มันมาตอบโจทย์ในใจเรา คือ ลดความเป็นอัตตาของตัวเราเลย...มันแค่กลับมาถามตัวเราเอง ว่าเรารู้สึกอย่างไรกับ space ของเรา เรารู้สึกอะไรกับ body ของเรา รู้สึกอย่างไรกับความคิดของเรา เรากลับมา feel กับ space ในตัวเรา”

          คำว่า “FEEL THE SPACE” เมื่อผู้อ่านเอ่ยประโยคนี้ออกมา เกิดความรู้สึกอย่างไร? ช่องว่างในใจ… ความอ้างว้าง…ความสงบ…หรือความตื่นเต้นท้าทาย จะใช่ความรู้สึกเดียวกับศิลปินหรือไม่ เราไปหาคำตอบกันค่ะ


วรรณศักดิ์ ศิริหล้า

ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2563

image
“FEEL THE SPACE ที่เกิดขึ้นในใจของกั๊กเอง ในการทำงานก็คือ ตอนนี้สถานการณ์ในใจเราเองในการทำงานก็มีความไม่มั่นใจ ระแวดระวังใครที่จะพูดอะไร หรือใครเป็นอะไร หรือตรงไหน หรือเกิดอะไรขึ้น ทำให้เราเกิดความไม่ไว้วางใจในหลายๆสิ่งหลาย ๆ อย่างที่มันเกิดขึ้น ณ ตอนนี้นะครับ”

          ได้ฟังความหมายของ FEEL THE SPACE ทั้งสองท่านไปแล้ว ผู้อ่านอดใจรอชมการแสดงไม่ไหวแล้วใช่ไหมคะ ก่อนไปดูการแสดงเรื่องสั้น “ศพในดงพงไผ่และกลุ่มต้นซีดาร์ (ฉบับคำให้การ)”ของ ริอุโนะสุเกะ อากูตาคาวา สำนวนแปลโดย ฉุน ประภาวิวัฒน์ ครูกั๊กได้เล่าเรื่องไว้ว่า 

......

          “เรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นของคุณริอุโนะสุเกะ อากูตาคาวา ของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ใช้ชื่อเรื่องว่า IN THE GROVE หรือในป่าละเมาะ เป็นคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในป่า เรื่องนี้เคยถูกนำมาใช้เป็นเรื่องสั้นที่อยู่ในภาพยนตร์ของคุณอากิระ คูโรซาวะ ก็คือเรื่องสั้นประตูผีราโชมอนและก็ป่าละเมาะศพในดงพงไผ่เรื่องนี้ เอามารวมกันจนกระทั่งเป็นราโชมอนที่เราเคยดูกัน และก็ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช เคยทำและก็เคยเป็นภาพยนตร์ของหม่อมน้อยในเรื่องอุโมงค์ผาเมือง แต่ว่าที่กั๊กหยิบมาทำ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก น่าฉงนสนเท่ห์ การเกิดคดีฆาตกรรมที่โจรได้ข่มขืนภรรยาของซามูไร และซามูไรตาย ทั้งหมดได้มาให้ปากคำ แต่ว่าในเหตุการณ์เดียวกัน ทุกคนต่างให้ปากคำที่แตกต่างกันไป แต่ทุกคนก็ยอมรับที่จะเป็นคนผิด รวมกระทั่งตัวซามูไรได้ตายไปแล้ว ก็ยังได้เล่าเรื่องตัวเองผ่านร่างทรงด้วย”

image
ภาพจากการแสดง  FEEL THE SPACE โดย วรรณศักดิ์ ศิริหล้า

การแสดง FEEL THE SPACE โดย วรรณศักดิ์ ศิริหล้า

          เป็นอย่างไรบ้างคะกับการแสดงเรื่องสั้น  “ศพในดงพงไผ่และกลุ่มต้นซีดาร์ (ฉบับคำให้การ)” หากผู้อ่านเจอสถานการณ์ราโชมอนเอฟเฟ็กต์เช่นในการแสดงชุดนี้ เราจะตีความเหตุการณ์เช่นนี้อย่างไร เราจะใช้ทัศนคติ ประสบการณ์แบบใดมาตัดสิน ผู้อ่านคงรู้คำตอบได้ด้วยตัวเอง

image
ภาพบรรยากาศการทำงานของคุณวรรณศักดิ์ ศิริหล้า
image
ภาพปกหนังสือ ราโชมอน แปลโดย ฉุน ประภาวิวัฒน

การทำงานในช่วงโควิดของครูกั๊ก

          ในการทำงานการแสดงท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่หนักหน่วงนี้ ครูกั๊กได้ทำงานสร้างสรรค์แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้ติดต่อผู้คนใหม่ๆ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันมีส่วนสำคัญให้งานบรรลุผล ครูกั๊กได้เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานได้อย่างน่าสนใจ

          "กั๊กมีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะมาก หมายถึงว่ามีเวลาพูดคุยกับตัวเองเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสได้อยู่กับพื้นที่ที่เราอยู่มากขึ้น เพราะเราไปไหนไม่ได้ มันเลยทำให้เราได้สังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นอยู่รอบตัว ซึ่งบางครั้งเราอาจจะลืมมันไป นี่มันคือโอกาสที่เราได้อยู่กับการทำงานของเราจริงๆ"

          "สำหรับการทำงานกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น ศิลปินที่เขียนภาพและศิลปินที่เล่นดนตรีโคโตะ ทั้งสองท่าน  กั๊กไม่เคยทำงานด้วยมาก่อนเลยครับ กั๊กรู้จักจากคำแนะนำของคุณครูดวงใจ ซึ่งทั้งคู่ได้ทำงานร่วมกันมาก่อน ที่เจแปนฟาวเดชั่น และก็แนะนำให้กั๊กทำงานกับศิลปินเขียนเสื้อดูไหม จริง ๆ แล้วเขาเป็นศิลปินวาดภาพ กั๊กเลยตัดยูกาตะสีขาวมา แล้วอยากให้เขาเพ้นท์ แล้วเขาก็รู้จักเรื่องราโชมอนดี และเราก็ปล่อยโอกาสให้เขาได้สร้างสรรค์งานของเขาว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร เขาวาดรูปออกมาเป็นเถาไม้ซากุระ ดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน กั๊กบอกเขาว่ากั๊กเล่นเป็นคาแรกเตอร์ของผู้หญิงในเรื่องนี้นะครับ ก็มีความเป็นญี่ปุ่นชัดเจนมาก ทั้งสีที่เขาใช้และลักษณะงานของเขา ซึ่งเขาอยากมาดูการซ้อมของเรามาก เขาอยากมาดูฟิตติ้ง อยากมาดูการทำงาน ซึ่งเขาไม่เคยเพ้นท์เสื้อผ้าการแสดงให้ใคร ส่วนใหญ่ก็วาดในเฟรม เขาอยากมาแต่ก็มาไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งศิลปินคือ คุณเคียวโกะ อาเบะ ครับ"

image
ชุดยูกาตะใน  FEEL THE SPACE ผลงานของคุณเคียวโกะ อาเบะ
image
คุณเคียวโกะ อาเบะ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ชุดยูกาตะใน FEEL THE SPACE
image
รอยพิมพ์ ถาวรสุวรรณ (เชลโล), ปฤณ รักชีพ (กีต้าร์ไฟฟ้า)

          "เครื่องดนตรีทั้ง 3 เครื่อง กั๊กมีคุณปริณเล่นกีตาร์ไฟฟ้า เราใช้แทนความรู้สึกข้างในของตัวโจร คุณมะนาวเล่นเชลโลแทนมาซาโกะผู้หญิงที่ถูกข่มขืน และก็มีโคโตะของคุณโดริโกะที่แทนภาวะข้างในของซามูไรที่เล่าผ่านร่างทรง เป็นการทำงานที่เรายังไม่ได้เจอกันเลย ...... เพราะฉะนั้นการพูดหรือพยายามที่จะสื่อสารจึงตรงประเด็น ชัดเจน เข้าใจ และก็ทำงานอิสระในความคิด อันนี้คือความเยี่ยมที่ได้ทำงานกับพวกเขานะครับ"

          ความสนุกยังไม่หมดที่การแสดงเรื่องสั้นเท่านั้น เรามาชมลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายของครูนาย มานพ มีจำรัส ที่ได้เปลี่ยนจาก theatre space มาสู่ free space ซึ่งเป็นความแปลกใหม่สำหรับครูนายอย่างมาก การแสดง FEEL THE SPACE นี้ได้ชุบชีวิตที่กำลังอิดโรยให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงแต่การเคลื่อนไหวท่วงท่าและอารมณ์มีความสมบูรณ์ไม่เปลี่ยนไปเลย การแสดงนี้ครูนายได้ค้นพบเทคนิคใหม่ เทคนิคที่ว่านั้นคืออะไร เราไปหาคำตอบกันค่ะ

FEEL THE SPACE

โดย มานพ  มีจำรัส

image
ภาพจากการแสดง  FEEL THE SPACE โดย มานพ  มีจำรัส

          "กว่าครึ่งชีวิตของครูนายที่ยึดติดกับ theater เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผันชีวิตเกือบเสียศูนย์ FEEL THE SPACE เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครูนายได้แสดงศักยภาพได้อีกครั้ง เพียงแค่เราเปิดใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลง"

          "คำว่า FEEL THE SPACE นะครับที่มันทำให้เรารู้ว่า เรากลับมาสิ ถ้าเรามีวิชาเยอะจริง เรามีองค์ความรู้แน่จริง เราเหลือร่างกายเท่าที่เราเหลือ เรายอมรับในงานเด็กรุ่นใหม่ๆ เรายอมรับในความคิดเห็นของคนใหม่ๆ เรายอมรับให้คนใหม่ๆ handle หรือถืออะไรบ้าง เพราะสิ่งที่เราคิดมาทั้งหมดเนี่ย บางครั้งมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย...เราแค่เปิดใจเปิดพื้นที่เราเท่านั้นแหละ"

การแสดง FEEL THE SPACE โดย มานพ  มีจำรัส

          "สำหรับศิลปินที่มาร่วมกันทำโครงการหรือทำงานแสดงชิ้นนี้จะมี คุณชาติชาย เกษนัส เป็นศิลปินที่เคยทำงานร่วมกันมานานมากแล้ว เขาเติบโตเป็นผู้กำกับมือทองของเมืองไทย นอกจากนี้ก็มี อาเล็ก อาเอก เป็นศิลปินลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นศิลปินพื้นถิ่น เป็นศิลปินราชบุรี ที่จะมาร่วมกัน เขาเรียกว่าทำงานชิ้นนี้ร่วมกันโดยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้วก็มาวาดบนกำแพง มาเปลี่ยนเป็นเครื่องหมายอะไรบางอย่างที่มันก็เป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เมื่อเราเห็นภาพต่างๆ พวกนี้เมื่อคนดูคนเห็นที่สัมผัสได้จะรู้สึกเช่นไร"
image
คุณชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับ FEEL THE SPACE

          สุดท้ายนี้ศิลปินทั้ง 2 ท่านขอขอบคุณโครงการมหกรรมวัฒนธรรมและศิลปะนานาชาติ : Galleries Night 2021 FEEL THE SPACE ที่ทำให้ได้พบกัลยาณมิตร ได้เห็นศักยภาพของตนเองอีกครั้ง ลดอัตตา ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และเปิดใจให้กับวิถีชีวิตแบบใหม่ ความรู้สึกตื้นตันนี้ไม่สามารถเล่าผ่านตัวอักษรได้ ทั้งหมด ผู้อ่านสามารถรับชมความรู้สึกของศิลปินทั้ง 2 ท่าน ได้จากคลิปวีดีโอด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

image
ภาพจากการแสดง  FEEL THE SPACE โดย มานพ  มีจำรัส
          “Nothing Happens Something Moves ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการเริ่มต้น ด้วยความเชื่อนี้ ข้าพเจ้าจึงเริ่มออกเดินทางโดยไม่ทราบเลยว่าหนทางข้างหน้าที่รออยู่คืออะไร สุข ทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง  หกล้ม ร้องไห้ เสียใจ ดีใจ หัวเราะ และพ่ายแพ้ ข้าพเจ้ารู้อย่างเดียวว่าหนทางข้างหน้ามีความจริง มันเป็นการดีต่างหากที่เราได้ใช้ชีวิตแม้ไม่สมบูรณ์ตามลิขิตของเราเอง มิใช่ลอกเลียนชีวิตที่สมบูรณ์แบบของผู้อื่น ข้าพเจ้าจึงลองปล่อยให้พื้นที่ต่างๆ เป็นตัวชี้นำความรู้สึกเพราะเชื่อเหลื่อเกินว่าเมื่อเราเชื่อความรู้สึก เราเชื่อธรรมชาติสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าจดจำ”

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2024 Copyright ICASWU
Back To Top