"ด้วยกระทรวงศึกษาธิการให้พิจารณาเห็นสมควรจัดเปิดการสอนชั้นมัธยมศึกษาขึ้นที่บริเวณโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร จึงให้เปิดโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาวิสามัญ ณ ท้องที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2495 เป็นต้นไป ให้ชื่อสถานศึกษาแห่งนี้ว่า "โรงเรียนประสานมิตร" และใช้อักษรย่อตามโรงเรียนว่า "ป.ม." ประกาศ ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 โดย พลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ"
โรงเรียนประสานมิตรเปิดสอนวันแรกในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ด้วยอาคารเรียนเพียงสองหลังซึ่งเป็นอาคารหลังคามุงจาก และนักเรียนชั้น ม.1 อีกเพียง 64 คน
ที่มาภาพ : โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม พ.ศ. 2502 (เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2559)
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=243836702304357&set=a.1171800452841306
16 กันยายน พ.ศ. 2497 วันปฐมฤกษ์ของการสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ขึ้นแทนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง โรงเรียนประสานมิตรก็ถูกโอนมาอยู่ในสังกัดของวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2499 วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้จัดตั้ง โรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยก่อนหน้านั้น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เขียนแผนผังวางรูปโรงเรียนขึ้นด้วยตนเอง และให้ นายพิณ สินธุเสก เป็นสถาปนิก ได้ลงมือก่อสร้าง
ที่มาภาพ : โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม พ.ศ. 2499 (เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2560)
http://prathom.swu.ac.th/m1-1history.html
เป็นผลให้วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้เป็นผู้นำในการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายใต้แนวคิดระบบโรงเรียนสาธิต (Demonstration School) เพื่อให้โรงเรียนสาธิตเป็นแปลงทดลองค้นคว้า ในระบบการศึกษาพื้นฐานสมัยใหม่ จึงเป็นต้นแบบและต้นทางแห่งการบุกเบิกกระบวนการเรียนรู้ เป็นต้นแบบของการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง โรงเรียนสาธิตจึงมีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝึกหัดครูของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งนิสิตจะได้ใช้เป็นที่สังเกตการสอนและการจัดการโรงเรียน โดยมีส่วนร่วมการปฏิบัติงาน และฝึกสอน นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเด็ก และทดสอบหลักวิชาการประถมและมัธยมศึกษาของวิทยาลัยวิชาการศึกษา โรงเรียนสาธิตจึงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่มีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม
แม้ในระยะแรกของการก่อตั้งโรงเรียนสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา อาจไม่ได้เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน แต่ด้วยความมุมานะของอาจารย์และบุคลากรของทั้งโรงเรียนและวิทยาลัย เป็นผลให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยดีเสมอมา ซึ่งปรากฏหลักฐานยืนยันความสำเร็จจากข้อความของบุคคลสำคัญที่ระบุเอาไว้ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน ดังนี้
“มาเยี่ยมพร้อมกับท่านเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ทุกคนมีความพอใจ” ปิ่น มาลากุล 3 ตุลาคม 2501
ที่มาภาพ : โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม (เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2567)
https://www.facebook.com/photo/?fbid=863688939138277&set=pcb.863689029138268
“ขอขอบคุณอาจารย์ใหญ่ที่เชิญมาชมกิจการของโรงเรียน ซึ่งมีวิธีดำเนินการอย่างน่านิยมอย่างยิ่งเป็นที่หวังได้แน่ว่า โรงเรียนมัธยมสาธิตนี้จะเป็นตัวอย่างอันดีแก่โรงเรียนอื่นได้ทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีอาคารหลังคาจาก” ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา 7 มกราคม 2502
ที่มาภาพ : โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม (เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2567)
https://www.facebook.com/photo?fbid=863688932471611&set=pcb.863689029138268
29 มิถุนายน 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากความพยายามเรียกร้องต่อรัฐบาลโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร อธิการบดีวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณาจารย์ นิสิต และข้าราชการ จนเป็นผลสัมฤทธิ์ในที่สุด โรงเรียนสาธิตจึงได้รับชื่อใหม่ว่า โรงเรียนประถม / มัธยม สาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2538 มีการปรับปรุงการบริหารโรงเรียนสาธิตอีกครั้งในชื่อ โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) / (ฝ่ายมัธยม) นับแต่นั้นเป็นต้นมา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้พัฒนาต่อยอดการเป็นแม่แบบของการจัดการการศึกษาเรื่อยมา จนประสบความสำเร็จนานัปการ
ตลอดเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา โรงเรียนสาธิตได้เติบโตดังปรัชญา “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” ควบคู่ไปกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ด้วยชื่อเสียงอันลือลั่น เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของการเป็นผู้นำในการวางรากฐานการศึกษา อันเป็นผลมาจากการบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่าย สร้างทรัพยากรมนุษย์อันทรงคุณค่าตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนถึงบัณฑิตที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ประดุจนักปราชญ์ และมีความประพฤติประดุจผู้ทรงศีล
บรรณานุกรม
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (2558). ประวัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.swu.ac.th/history.php
โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม). (2560). ประวัติโรงเรียน. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2567, จาก http://prathom.swu.ac.th/m1-1history.html
โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม). (2565). ประวัติโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม). สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2567, จาก https://home.spsm.ac.th/history