Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ

ข่าวหน่วยงาน

ดนตรีกับสงคราม

ดนตรีกับสงคราม

บทความโดย นายธยาน์ณัฏฐ์ อัศวราชันย์ นิสิตฝึกงาน ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Author: aekmongkol/Tuesday, August 6, 2024/Categories: บทความ

ดนตรีกับสงคราม

            ดนตรี เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หากโลกนี้ปราศจากเสียงดนตรี ชีวิตของมนุษย์ก็คงจะจืดชืดไร้สีสันและขาดความมีชีวิตชีวา ดนตรีจึงเป็นสิ่งที่คอยจรรโลงใจและมอบความบันเทิงให้แก่มนุษย์ ไม่เพียงแค่นั้นดนตรียังมีบทบาทสำคัญมากมายอีกหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ สงคราม ฟังแล้วอาจจะดูขัดแย้งกันไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงดนตรีถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในศึกสงคราม ทั้งใช้ในการปลุกใจ หรือแม้แต่คอยปลอบประโลมจิตใจของเหล่าทหารในยามที่เหนื่อยล้าจากการทำสงคราม บทความนี้จะพาไปรู้จักกับประวัติความเป็นมาของดนตรี รวมไปถึงบทบาทสำคัญของดนตรี บทเพลงต่าง ๆ ในสงครามว่ามีความสำคัญต่อการทำศึกสงครามมากน้อยเพียงใด

            ดนตรีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์รู้จักเรียนรู้ที่จะนำสิ่งต่าง ๆ ตามธรรมชาติรอบตัวมาทำให้เกิดเสียงและจังหวะด้วยการเคาะ ตี เป่าหรือแม้แต่การใช้ร่างกายของตัวเองให้เกิดเสียงดนตรี เช่น การผิวปาก การปรบมือเป็นจังหวะ จนต่อมาจะเริ่มมีการพัฒนากลายมาเป็นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ในภายหลัง โดยในช่วงยุคแรกนั้นดนตรีถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการสรรเสริญและบูชาเทพเจ้า จนกระทั่งการเข้ามามีบทบาทของศาสนาต่าง ๆ ดนตรีก็ได้ถูกพัฒนามาเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการบูชาศาสนาโดยตรง โดยยุคสมัยของดนตรีสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • สมัยกลาง (Medieval Music ค.ศ. 500 – 1400)
  • สมัยเรเนซองส์ (Renaissance Music ค.ศ. 1400 – 1600)
  • สมัยบาโรก (Baroque Music ค.ศ. 1600 – 1750)
  • สมัยคลาสสิก (Classical Music ค.ศ. 1750 – 1830)
  • สมัยโรแมนติก (Romantic Music ค.ศ. 1830 – 1900)
  • สมัยศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน (Modern Music 1900 – present)

            ในแต่ละยุคสมัยก็จะเห็นการพัฒนาของดนตรีอยู่เรื่อยมา อันมีเอกลักษณ์ในแต่ละยุค โดยเฉพาะในสมัยเรเนซองส์ที่เป็นช่วงการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ศิลปะทุกแขนงได้ถูกฟื้นฟูรวมไปถึงดนตรีเช่นเดียวกัน ทำให้ดนตรีเริ่มไม่จำกัดเฉพาะแค่ต้องเล่นเพื่อศาสนา แต่ทำให้ผู้คนสามารถเล่นได้ทั่วไป เริ่มเปิดกว้างและเข้าถึงได้ในทุกชนชั้น ในช่วงศตวรรษที่ 20 ดนตรีกลายเป็นสิ่งที่คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งชนชั้นที่ต่ำที่สุดในยุคสมัยนั้นอย่างทาส ซึ่งทาสผิวดำเองก็มีการเล่น เพลงบลูส์ (Blues) เพื่อใช้ในการผ่อนคลายหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ซึ่งต่อมาเพลงบลูส์นั้นกลายเป็นรากฐานสำคัญที่เปลี่ยนแปลงวงการดนตรีของโลกและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อแนวทางในการทำเพลงในปัจจุบัน

            ถึงแม้ว่าดนตรีจะมีความเปลี่ยนแปลงอันเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและขาดหายไปจากในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์เลยนั่นก็คือ สงคราม

            สงคราม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในทุกยุคทุกสมัย อันเป็นส่วนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ที่อยู่ควบคู่กับ  อารยธรรมของมนุษย์มาอย่างช้านาน การทำสงครามนั้นดูเผิน ๆ จะเหมือนเป็นแค่การใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันระหว่างคู่ต่อสู้ แต่ในความเป็นจริงการทำศึกสงครามนั้นต้องใช้ความคิด การวางแผน ยุทธวิธีทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็น การเข้าตี การถอยทัพ การจัดระเบียบต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ดนตรีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการทำศึกสงคราม

            ในสนามรบนั้นมีเสียงที่ดังอื้ออึงมากเสียจนบางทีไม่สามารถได้ยินอะไรได้อย่างชัดเจน การใช้เครื่องดนตรีเข้ามาเป็นตัวช่วยไม่ว่าจะในการส่งสัญญาณ การกำกับจังหวะการเดินของทหาร นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำศึก เช่น การตีกลองส่งสัญญาณให้บุกโจมตี ถอยทัพ หรือแม้แต่เป็นการแจ้งเตือนให้รู้ถึงภัยอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นก็นิยมใช้กันกันอย่างแพร่หลาย การใช้เครื่องดนตรีและการใช้เพลงเพื่อเป็นการกำกับจังหวะและเป็นการปลุกใจในสนามรบนับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการทำศึกสงคราม ดังเช่น กองทัพของจักรวรรดิอังกฤษ (British Empire) ในช่วงศตวรรษที่ 17 - 19 เป็นช่วงที่ยุทธวิธีในการทำสงครามนิยมใช้กันในกองทัพภาคพื้นดินของชาติต่าง ๆ ในยุโรปมักจะเป็นการใช้วิธี การรบแบบหน้ากระดาน (Line Tactics) กล่าวคือ เป็นการทำศึกแบบเรียงแถวหน้ากระดานโดยใช้ปืนยาวโจมตีใส่กัน ซึ่งในการรบแต่ละครั้งมักจะมีการนำเครื่องดนตรีมาใช้ไม่ว่าจะเป็น กลอง ฟลุต หรือแบ็กไพพ์ (หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ปี่สก็อต) ใช้เล่นเพื่อเป็นการกำกับจังหวะในการเดินทัพของทหาร โดยทางกองทัพจักรวรรดิอังกฤษเองก็มีบทเพลงที่นิยมใช้กันตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 นั่นก็คือเพลง The British Grenadiers เป็นเพลงมาร์ชเร็วประจำหน่วย Grenadier Guards  โดยทำนองและเนื้อร้องนั้นเต็มไปด้วยความฮึกเหิมที่แฝงด้วยความสุขุมและความเป็นสุภาพบุรุษ เป็นเพลงที่ให้กำลังใจทหารในหน่วยเมื่ออยู่ในการสงครามได้เป็นอย่างดี โดยในสก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือชาติอื่น ๆ ในยุโรปเองก็มีการใช้ดนตรีในการเดินสวนสนามและใช้ในการทำสงครามเช่นเดียวกัน

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/1zSowOS4Wyg?si=xPs7XOc23CwPWHId)

 

            ต่อมาในช่วงหลังจากสิ้นสุดสงครามประกาศเอกราชของอเมริกา ทางฝั่งอเมริกาเองก็มีดนตรีแนวหนึ่งที่ต่อมาเป็นรากฐานสำคัญของดนตรียุคใหม่ นั่นก็คือ ดนตรีบลูส์ (Blues) โดยย้อนกลับไปในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 ในสมัยของประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ได้มีความต้องการที่จะยกเลิกระบบทาสในอเมริกา ด้วยแนวคิดที่ต้องการจะให้ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่นั่นก็ทำให้เกิดการแบ่งออกเป็นสองฝ่ายก็คือ ฝ่ายเหนือ และ ฝ่ายใต้ ฝ่ายใต้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้อิสระแก่เหล่าทาส เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ทางใต้ของอเมริกานั้นเหมาะแก่การทำการเกษตร เช่น ไร่ฝ้าย ไร่ยาสูบ ซึ่งจะต้องพึ่งพาแรงงานจากเหล่าทาสผิวดำ จนสุดท้ายเกิดเป็น สงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายใต้และเหล่าทาสผิวดำก็ได้รับอิสระ ดนตรีบลูส์นั้นเป็นดนตรีที่ติดตัวเหล่าทาสมาตั้งแต่ก่อนที่จะถูกหลอกให้ขึ้นเรือมายังแผ่นดินอเมริกา การกระจัดกระจายของเหล่าทาสที่เป็นไทนั้นก็ทำให้ดนตรีบลูส์ได้ขยายอิทธิพลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และเริ่มเข้าหูของเหล่าคนขาวมากขึ้น ในช่วงแรกยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนักและมักจะเหมือนเป็นแค่เพลงพื้นบ้านที่เล่นกันเพื่อผ่อนคลายเสียมากกว่า จนกระทั่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ดนตรีบลูส์ได้ถูกคนขาวนำไปพัฒนาและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ดนตรีแจซ (Jazz) ประจวบเหมาะกับในช่วงทศวรรษที่ 1910 - 1920 เป็นช่วงที่เกิด สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War 1)  (ค.ศ. 1914 – 1918) หลากหลายเพลงก็ได้ถูกใช้ในการปลุกใจแก่เหล่าทหารให้มีกำลังใจในการรบ เช่น เพลง It’s A Long Way To Tipperary แต่งโดย Jack Judge และ Harry Williams ได้รับแรงบันดาลใจจากอาการคิดถึงบ้านของชาวไอริชที่เข้ามาทำงานในอังกฤษ โดยเนื้อหาของเพลงมีความหมายถึงการคิดถึงบ้านของเหล่าทหารอังกฤษที่จากบ้านมาเทียบเท่ากับระยะทางจากลอนดอนถึงทิปเปอรารี โดยมีการเล่นสดครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1912

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/k_DiSV8bowk?si=TUsFYTVGmbHmh_qs)

 

            หรืออย่างเพลง Over There เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใน ค.ศ. 1917 โดย George M. Cohan ได้รับความนิยมจากกองทัพสหรัฐและประชาชนทั่วไปในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง โดยเพลงนี้เป็นเพลงรักชาติที่มีเนื้อหาเพื่อกระตุ้นให้เหล่าชายหนุ่มอเมริกันไปเข้ารับการเกณฑ์ทหารเพื่อปกป้องชาติบ้านเมือง

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/AVqfxKSYnvw?si=S5l6HmcYZN9iCCdL)

 

            อเมริกาเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมสงครามและอยู่ฝ่ายผู้ชนะ นั่นทำให้ประเทศที่ชนะสงครามมีความเจริญเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะในเรื่องของเศรษฐกิจ ทรัพยากร เงินทอง รวมไปถึงศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปยังประเทศอื่น ดังเช่นดนตรีแจซของอเมริกาก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปยังนานาประเทศและกลายเป็นดนตรีกระแสหลักไปในที่สุด ซึ่งด้วยความที่ดนตรีแจซนั้นมีลักษณะที่มีความสนุกสนาน มีจังหวะที่สามารถเต้นได้ ทำให้ดนตรีแจซได้กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากหลังสงครามโลกผู้คนมีความต้องการที่จะหาความสุขความสำราญให้แก่ตนเองหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก รวมไปถึงผู้คนในประเทศที่เป็นผู้ชนะสงครามก็เริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งดนตรีแจซเองก็เป็นอะไรที่ใหม่สำหรับคนยุคนั้น กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นโลกได้อยู่กับดนตรีคลาสสิคมาเป็นเวลานาน การมาถึงของดนตรีแจซที่มีความสนุกสดใหม่ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกจริตกับผู้คนไปได้โดยปริยาย

            ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War 2) (ค.ศ. 1939 – 1945) เป็นสงครามครั้งใหม่ที่อุบัติขึ้นอย่างร้ายแรงและส่งผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารมีความทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากสงครามมากกว่าหลายสิบล้านคนทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งคนในวงการดนตรีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังในกรณีของ วลาดิสลาฟ สปิลมัน (Władysław Szpilman) นักเปียโนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ที่ได้รับผลกระทบจาก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี (The Holocaust) และสามารถเอาชีวิตรอดมาได้ โดยเรื่องราวของเขาก็ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Pianist (2002) โดยเขาเป็นนักเปียโนคลาสสิคและแจซที่ประจำอยู่ที่สถานีวิทยุของรัฐบาลโปแลนด์ ซึ่งในช่วงที่เยอรมนีบุกโปแลนด์ใน ค.ศ. 1939 สถานีวิทยุถูกสั่งปิด แต่ก่อนที่สถานีจะปิดตัวลงเขาก็ได้บรรเลงเพลงของคีตกวีชื่อดังชาวโปแลนด์นามว่า Frédéric Chopin อย่างเพลง Nocturne No.20 in C-sharp Minor เพื่อเป็นการอำลา

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/n9oQEa-d5rU?si=-RMS9z7afol7R6kF)

 

            ในสงครามโลกครั้งที่สองนั้นก็ได้มีการเพลงใช้ปลุกใจและให้กำลังใจแก่เหล่าทหารในสงครามมากมาย เช่นเพลง Praise the Lord and Pass the Ammunition โดย Frank Loesser ก็เป็นหนึ่งในเพลงปลุกใจเหล่าทหาร โดยมีเนื้อหาให้ทหารสรรเสริญคุณแก่พระคุณเจ้า ในขณะเดียวกันก็กำลังส่งกระสุนให้เหล่าเพื่อนทหารในการยิงต่อสู้กับศัตรู

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/V223TU032DE?si=kZCk4r8hYtcT82bt)

 

            เพลง Coming in on a Wing and a Prayer โดยเนื้อเพลงกล่าวถึงเรือบินที่ถูกยิงจนเหลือเครื่องยนต์แค่เครื่องเดียว ทำให้นักบินจะต้องสวดภาวนาระหว่างที่กำลังบินกลับฐานทัพ โดยเนื้อร้องและทำนองมีความคึกคักและให้กำลังใจแก่ทหารที่อยู่ในสงคราม แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญในการทำศึกสงครามของเหล่าทหาร

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/D5HRoPxJ_yk?si=jZRif-il49RXSiuc)

 

            ซึ่งนอกจากจะมีการใช้เพลงในกองทัพเพื่อเป็นการปลุกใจแล้ว ก็ยังมีการใช้บทเพลงเป็นการเตือนภัยต่าง ๆ ล่วงหน้าอีกด้วย ดังเช่นในประเทศไทยเองก็ได้มีการใช้บทเพลงในการแจ้งเตือนภัย ซึ่งช่วงที่กรุงเทพถูกทิ้งระเบิด หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ อธิบดีกรมโฆษณาการ (ณ ขณะนั้น) ได้นำเพลง รักชาติยิ่งชีพ มาเปิดเพื่อเป็นสัญญาณการแจ้งเตือนภัยก่อนที่เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิด โดยภายหลังจากทุกอย่างปลอดภัยแล้วก็จะมีการเปิดเพลง พุทธคุณคุ้มครองไทย มาเป็นสัญญาณเพื่อบอกให้ประชาชนทราบว่าสามารถออกมาจากที่หลบภัยได้ สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อีกทั้งยังเป็นการเปิดเพื่อเป็นการปลอบขวัญให้แก่ประชาชน

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/Yg3Af8zijnU?si=vjdJgliRb-Jh05Vs)

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/-L_OLT74kO8?si=VDJggdNbDA7wlYX6)

 

            ภายหลักจากสิ้นสุดสงครามโลก ทั่วทั้งโลกก็เริ่มกลับมาฟื้นฟูประเทศของตัวเอง รวมไปถึงวงการดนตรีก็ได้เริ่มฟื้นฟูและเกิดแนวดนตรีใหม่ ๆ ขึ้น จาก Jazz เปลี่ยนเป็น Rhythm and Blues หรือที่เรียกกันว่า R&B เกิดเป็นรากฐานสำคัญของดนตรีแนว ร็อคแอนด์โรล (Rock n’ Roll) ที่ได้สร้างตำนานราชาเพลงร็อคแอนด์โรลอันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอย่าง เอลวิส เพลส์ลีย์ (Elvis Presley) โดยในช่วงยุค 50s เขาได้กลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในหมู่วัยรุ่นทั่วโลกและมีอิทธิพลในการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็น แฟชั่นการแต่งตัว, ภาพยนตร์, รวมไปถึงรสนิยมในการฟังเพลง

            หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกเพียงแค่ไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็เกิดสงครามครั้งใหม่นั่นก็คือ สงครามเย็น (Cold War) อันเป็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เป็นการต่อสู้กันด้วยระบบอุดมการณ์ การแข่งขันกันด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ รวมไปถึงแข่งขันกันในด้านอวกาศ (Space Race) การเมืองโลกได้ถูกแบ่งออกเป็นสองขั่วระหว่าง ระบบเสรีนิยม (Liberalism) และ ระบบคอมมิวนิสต์ (Communism) ซึ่งทุกประเทศได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า จนเกิดเป็นสงครามที่เรียกว่า สงครามตัวแทน (Proxy War) ที่ประเทศใหญ่ทั้งสองประเทศจะคอยเข้าไปแทรกแซงและให้การสนับสนุนแก่ประเทศที่มีแนวคิดแนวเดียวกับตน เช่น สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี สงครามอาหรับอิสราเอล เป็นต้น ในช่วงนี้เองศิลปินมากหน้าหลายตาก็ได้ออกผลงานเพลงที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามมากมาย บ้างก็เป็นบทเพลงเพื่อสันติภาพ เช่นเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) แห่งวง เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles) อันเป็นบทเพลงในตำนานที่เมื่อใดก็ตามที่เราคิดถึงเพลงเพื่อสันติภาพ เชื่อว่าทุกคนจะต้องคิดถึงเพลงนี้ก่อนเป็นอันดับแรกอยู่เสมอ

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/ugrAo8wEPiI?si=qgsqf75rM-L4NHUr)

 

            บ้างก็เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนานโดยมีการนำส่วนหนึ่งของสงครามเย็นมาเป็นเนื้อหา ดังเช่นเพลงของวงดนตรีร็อคระดับตำนานจากเกาะอังกฤษอย่าง เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles) กับเพลง Back In The U.S.S.R. โดย พอล แมคคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) หนึ่งในสมาชิกของวงแต่งเพลงนี้ด้วยการจินตนาการถึงมุมมองของสายลับชาวรัสเซียที่กำลังเดินทางกลับบ้านหลังจากปฏิบัติภารกิจบางอย่างเสร็จสิ้น พอลได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้จากการที่อยากล้อเพลง Back In The U.S.A. ของ ชัค เบอร์รี (Chuck Burry) ด้วยเนื้อหาของเพลงที่มีความกวน ๆ ท่วงทำนองอันสนุกสนานและการเปิดเพลงด้วยซาวด์เอฟเฟกต์เสียงเครื่องบิน โดยในท่อนกลางของเพลงยังมีเนื้อหาที่เล่นกับความเป็นสหภาพโซเวียตในยุคนั้นโดยเอาหญิงสาวจากในภูมิภาคต่าง ๆ มาหยอกเล่นอีกด้วย

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/nS5_EQgbuLc?si=VtrmdLhlqam01hRZ)

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/23y2Cz40zs4?si=uNqGLugNtOdqmrSP)

 

            เพลง Russians ของ สติง (Sting) แห่งวง เดอะโพลิซ (The Police) ก็ได้มีการกล่าวถึงสหภาพโซเวียตเช่นกัน ต่างแค่เป็นในมุมมองที่ค่อนข้างจริงจัง กล่าวถึงความคิดเห็นของเขาต่อนโยบายของทั้งสองชาติมหาอำนาจที่ต่างพากันสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ในการสงคราม

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/wHylQRVN2Qs?si=WiGwimXjSdiRNv4w)

 

         ในช่วงเวลานั้นเกิดสงครามขึ้นในพื้นที่หลายประเทศทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเองก็ได้มีการส่งทหารไปประจำการในพื้นที่ต่าง ๆ ในแต่ละประเทศที่มีความขัดแย้งกันระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ เช่นใน สงครามเวียดนาม (Vietnam War) ซึ่งในสงครามนอกจากสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแล้วก็ยังมีสิ่งที่จำเป็นที่คอยให้ความบันเทิงแก่เหล่าทหารหนุ่มอเมริกันไม่ว่าจะเป็น ยาสูบ สุรา หรือแม้กระทั่งนารี อีกหนึ่งสิ่งที่เหล่าทหารจะขาดไปไม่ได้เลยนั่นก็คือเสียงเพลง เหล่าทหารหนุ่มอเมริกันที่จากบ้านมานับพันไมล์ก็นิยมฟังเพลงเพื่อเป็นการสร้างความฮึกเฮิมหรือแม้แต่ช่วยคลายความเหงา ความคิดถึงบ้านเกิดและบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งบางเพลงก็ได้ทำให้คนรุ่นหลังฟังแล้วรู้สึกว่าบทเพลงเหล่านี้นั้นเป็นดั่งสัญลักษณ์ประจำของสงครามเวียดนาม

(รับชมได้ที่ : https://youtu.be/sDcRCHXQ9gs?si=n1BGaaOAB_w7cOoC)

 

            สุดท้ายสงครามเย็นก็จบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว ส่งผลให้วัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์, แฟชั่น, ข้าวของเครื่องใช้, เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมดนตรีของอเมริกันชนก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปยังทั่วโลก 

            ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ดนตรีก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตของมนุษย์ เป็นสิ่งที่คอยจรรโลงใจและให้ความสุขหรือแม้แต่บางครั้งก็คอยช่วยปลอบประโลมจิตใจของมนุษย์ให้รอดพ้นจากความเศร้าโศก ดนตรีสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่างเช่น การใช้ดนตรีบำบัด การใช้ดนตรีเพื่อการเรียนรู้ในเด็ก การใช้ดนตรีเพื่อสร้างสันติภาพ แต่ดนตรีก็สามารถถูกนำไปใช้ในการสงครามทั้งเพื่อเป็นการปลุกใจ สร้างความเป็นชาตินิยม หรืออาจจะนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อสร้างความเกลียดชังก็ย่อมได้ เพราะฉะนั้นจึงควรตระหนักถึงการใช้ดนตรีให้เกิดประโยชน์นั้นย่อมดีกว่านำไปใช้ให้เกิดโทษ การกล่าวถึงบทบาทของดนตรีในสงครามนั้น ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจ และที่มาที่ไปของดนตรีเหล่านี้อันมีบทบาทสำคัญยิ่งในหลากหลายสงคราม อีกทั้งยังเพื่อเป็นอุทาหรณ์และเป็นความรู้ให้แก่ชนรุ่นหลัง รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้จากภัยของสงครามที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ที่สามารถทิ้งรอยบาดแผลเอาไว้ภายในใจของผู้คนหลายล้านชีวิตทั่วโลก ซึ่งผลพวงจากสงครามในครั้งอดีตที่ผ่านมายังคงทิ้งร่องรอยมรดกอันเลวร้ายไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังที่จะต้องแบกรับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส อีกทั้งยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลกใบนี้ได้อย่างใหญ่หลวง

 

บรรณานุกรม

จุฬาพร เอื้อรักสกุล.  (2567).  สงครามเย็น.  สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2567, จาก    

            http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title

ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์.  (2564).  Imagine” บทเพลงสันติภาพ ของจอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ ที่ใช้ใน

            พิธีเปิดโอลิมปิก.  สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.beartai.com/tech/715862

วัฒกานต์ ขันธ์ศรี.  (2565).  สรุปย่อยประวัติศาสตร์ดนตรี Rock n’ Roll 101.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ:

            กู๊ดแฮนด พริ้นท์ติ่ง แอนด์ แพคเกจจิ้ง.

วิภว์ บูรพาเดชะ.  (2565).  5 บทเพลงจากศิลปินซูเปอร์สตาร์ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สงครามเย็นและ

ภาพของรัสเซียในสายตาโลกเสรี.  สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2567, จาก  

https://happeningandfriends.com/article-detail/396?lang=th

Akron Symphony.  (2567).  Musical Periods.  สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2567,  จาก 

            https://www.musicnotes.com/blog/musical-periods-the-history-of-classical-music/

Howard Bressler.  (2566).  ‘Praise the Lord and Pass the Ammunition’.  สืบค้นเมื่อ 6

            กรกฎาคม 2567,  จาก https://www.jns.org/praise-the-lord-and-pass-the-ammunition/

Library of Congress.  (2545).  Over there.  สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2567,  จาก

            https://www.loc.gov/item/ihas.200000015/

My Learning.  (2567).  A Wartime Musical Hit.  สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2567, จาก

            https://www.mylearning.org/stories/its-a-long-way-to-tipperary/764

Songtopia.  (2566).  บทบาทที่หลากหลายของ ‘เพลง’ กับ ‘สงคราม’.  สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2567, 

            จาก https://youtu.be/y7GeYEBfAes?si=tjTeVsfuPG8fDYmL

The people.  (2565).  วลาดิสลาฟ สปิลมัน: The Pianist ตัวจริงผู้หนีรอดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์.  สืบค้น

            เมื่อ 6 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.thepeople.co/read/41045

Print

Number of views (727)/Comments (0)

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2024 Copyright ICASWU
Back To Top