Search
× Search
Menu
  1. หน้าแรก
  2. เกี่ยวกับเรา
  3. ข่าวสาร
  4. ระบบสารสนเทศ
  5. บริการ
  6. ติดต่อ

ข่าวหน่วยงาน

หอจดหมายเหตุออนไลน์ รำลึกคุณูปการ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ
aekmongkol

หอจดหมายเหตุออนไลน์ รำลึกคุณูปการ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ

ผู้อำนวยการคนแรก "โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง"

          หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เคยเล่าเรื่องราว รำลึกคุณูปการ ของบุคคลสำคัญ ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาแล้ว 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และ ศาสตราจารย์ ดร. สาโรช บัวศรี วันนี้หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขอแนะนำชีวประวัติของปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญมากอีกท่านหนึ่ง นั่นคือ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า การศึกษา คือ สิ่งที่เหลืออยู่ภายหลังที่เราลืมอะไรหมดแล้ว

          หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อ่านว่า หลวง-สะ-หวัด-ดิ-สาน-สาด-ตระ-พุด) หรือ สวัสดิ์ สุมิตร เป็นบุตรของนาย อี เอส สมิธ (E.S. Smith) และนางชุ่ม สมิธ เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2444 ที่ตรอกกัปตันบุช อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร สมรสกับนางสาวถนอมศรี สุมิตร (สกุลเดิม จิลลานนท์) มีบุตร 1 คน และธิดา 1 คน สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูแอคซิเดอร์ และ ในระดับปริญญา B.Sc. (Bachelor of Science) จากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร

หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิขณะสอนนักเรียน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2461

          การจบปริญญาในสาขาวิทยาศาสตร์ทำให้ท่านเป็นผู้วางรากฐานให้กับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทยในขณะนั้น และได้เริ่มจัดตั้งหน่วยศึกษานิเทศก์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ด้วยความที่ท่านจบทางด้านวิทยาศาสตร์มา ท่านจึงพอใจที่จะพิสูจน์ผลงานด้วยการกระทำมากกว่าพูด และท่านเป็นผู้ที่รักการศึกษาอยู่ตลอดชีวิต วิชาการมีความสำคัญเท่าการบริหาร ฉะนั้นเมื่อท่านได้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาและเฝ้าสังเกตวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการศึกษาของไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งในงานการปรับปรุงวิชาการ งบประมาณและการบริหาร ท่านได้กล่าวไว้ว่า การศึกษา คือ สิ่งที่เหลืออยู่ภายหลังที่เราลืมอะไรหมดแล้ว ท่านจึงมองเห็นว่าการดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษานั้น ไม่มีเวลาเหลือให้เราพูดเล่นเจรจากันมากนักนอกจากต้องเร่งรีบช่วยกันลงมือทำทันที ด้วยความเสียสละและเอาจริงเอาจัง

หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ในงานประชุมลูกเสือนานาชาติ ณ สวนลุมพินี พ.ศ. 2506

          หลังจากที่ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงขึ้นมาแล้วนั้น สิ่งสำคัญต่อมาที่ต้องทำ คือ การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อมาบริหารโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงนี้ ในที่สุด ท่านจึงได้เลือกข้าราชการผู้มีความสามารถท่านหนึ่งนั่นคือ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงเป็นคนแรกและคนเดียว (เพราะหลังจากนั้นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงก็ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวิทยาลัยวิชาการศึกษา)

หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิตรวจราชการต่างจังหวัดร่วมกับศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล พ.ศ. 2500

          เนื่องจากท่านจบการศึกษามาจากสหราชอาณาจักรทำให้ท่านมีความเป็นสุภาพบุรุษตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษติดตัวมาด้วย ดังจะเห็นได้จากที่ อาจารย์ หทัย ตันหยง บันทึกไว้ว่า "หลวงสวัสดิฯ ท่านเป็นผู้รักษาระเบียบวินัย เคร่งครัด ตรงต่อเวลา รับผิดชอบ มีน้ำใจหนักแน่นและทำประโยชน์ให้ส่วนรวม กิจวัตรประจำวันที่ท่านวางไว้ให้นักเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง คือ การตื่นนอนแต่เช้าเพื่อมากายบริหาร เสร็จแล้วจึงไปเรียนก่อน 1 ชั่วโมง แล้วค่อยมารับประทานอาหารเช้า แล้วกลับไปเรียนต่อจนถึงเย็น ก่อนนอน สามทุ่มครึ่งก็ต้องสวดมนต์" แม้จะมีเชื้อฝรั่ง แต่ อาจารย์ หทัย ก็บอกว่า "แม้จะดูกลัว ๆ เพราะหน้าตาท่านเป็นฝรั่งชัด ๆ แต่พอใกล้ชิดแล้วเหมือนพระหลวงตาใจดี พูดช้า ๆ เมตตาพวกเรา ที่น่าแปลกใจคือ ท่านเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัดในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง"

หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิสามัญศึกษาตรวจราชการ ณ โรงเรียนสตรีเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2500

          หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิได้สร้างคุณงามความดีไว้ในวงราชการของกระทรวงศึกษาธิการไว้อย่างมากมาย ในที่นี้ขอนำเอาข้อความบางตอนซึ่ง ศาสตราจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง ได้เขียนคำไว้อาลัยในหนังสืออนุสรณ์วันพระราชทานเพลิงศพหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิมาเป็นตัวอย่างดังนี้

          “ คุณหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ผู้ได้รับสมญาว่า อธิบดีสุภาพบุรุษของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้มีอุดมคติว่า ทำดีกว่าพูด... ท่านได้รับการสนองพระเดชพระคุณของบ้านเมืองในตำแหน่งข้าราชการประจำเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งนักเรียนกรมศึกษา กระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 จนถึงตำแหน่งอธิบดีกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และเกษียณอายุในตำแหน่งนี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2504 และในระหว่าง พ.ศ. 2503-2506 ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย ”

บันทึกคำอวยพร แด่หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา เนื่องในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 60 พ.ศ. 2504 โดยประชุมสุข อาชวอำรุง

          ในสมุดบันทึกประจำตัวท่าน จะมีข้อความสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า

I have done my duty

I have paid my debt

I have done my best

And here is my story

          ซึ่งแปลได้ว่า "ข้าพเจ้าทำหน้าที่ของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าชำระหนี้ของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าทำทุกอย่างสุดความสามารถแล้ว และนี่คือเรื่องราวของข้าพเจ้า" ข้อความนี้ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติประจำตัวท่านได้เป็นอย่างดี

งานทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิด อายุครบ 60 ปี หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ พ.ศ. 2504

          หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิทำงานรับใช้ด้านการศึกษาให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ท่านได้จากไปอย่างสงบด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 สิริอายุได้ 71 ปี

          หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ เคยกล่าวเป็นภาษาไทยสั้นๆ ว่า “การศึกษาคือสิ่งที่เหลืออยู่ภายหลังที่เราลืมอะไรหมดแล้ว” ในที่นี้ ใคร่ขอจารึกเลียนคำของท่านว่า คุณงามความดีของหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ คือ สิ่งที่เหลืออยู่ให้ญาติมิตรและศิษย์ได้นึกถึงด้วยความอาลัย ภายหลังที่ท่านอนิจกรรมแล้ว

รูปปั้นหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (ด้านซ้าย) บุคคลสำคัญอีกหนึ่งท่านของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


เรียบเรียงโดย

ฝ่ายบริหารหอจดหมายเหตุและศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เอกสารอ้างอิง

รำลึกคุณูปการ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ โดย สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ (2554)

Previous Article E-Exhibition นิทรรศการออนไลน์ พระมิ่งขวัญแห่งศรีนครินทร์
Next Article ทะเบียนวัตถุภูมิปัญญาไทย
Print
295

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาคารหลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (อาคาร 3)
114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทรศัพท์ : 0 2649 5000 ต่อ 12065, 15306
โทรสาร : 0 2261 2096
อีเมล : icaswu@gmail.com

Terms Of UsePrivacy Statement© 2023 Copyright ICASWU
Back To Top