ข่าว หน้าแรก เกี่ยวกับเรา อาคารสถานที่ การประกันคุณภาพ วิชาการและวิจัย ติดต่อเรา

หอจดหมายเหตุออนไลน์ รำลึกคุณูปการ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

28 เม.ย. 2566





          ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาและส่งเสริมการศึกษาในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ท่านรับราชการในฐานะข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการจนถึงตำแหน่งสูงสุดคือ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านได้สืบสานงานด้านการศึกษาซึ่งมีมาแต่เดิม รวมทั้งวางรากฐานสรรค์สร้างงานใหม่เป็นอเนกประการ ยังผลให้การศึกษาของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมีระบบแบบแผน รวมทั้งการประสานประโยชน์กับนานาประเทศเป็นเหตุให้การศึกษาทุกระดับเจริญวัฒนาขึ้นเป็นประจักษ์ชัดโดยทั่วกัน

ปฐมวาระพิธีพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาลัยวิชาการศึกษา 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2502

          ในส่วนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้มีคุณูปการแก่สถาบันนี้เป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้ก่อกำเนิดสถานศึกษาแห่งนี้ ตั้งแต่เริ่มแรกเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง และได้ส่งเสริมสนับสนุนในทุกทางให้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาจนเป็นแหล่งผลิตครูปริญญา เป็นผลงานที่สร้างประโยชน์แก่วงการศึกษาของปรเทศอย่างกว้างขวาง ตราบจนกระทั่งวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาอื่นๆ เพิ่มขึ้นนอกจากการผลิตครูซึ่งทำมาเป็นเวลานาน

บรรยากาศการทำงานของ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

เบื้องหลังงาน “สร้างครู” จากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงสู่วิทยาลัยวิชาการศึกษา

          ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นบุคคลสำคัญที่ได้ส่งเสริมและพัฒนาการฝึกหัดครูให้ก้าวหน้าและมั่นคงมาโดยตลอดลำดับแรกของงานฝึกหัดครูท่านได้เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2477 และได้จัดตั้งแผนกครูมัธยมขึ้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปี 2490 (และฝึกหัดครูเตรียมอุดมศึกษานี้เองที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวันในเวลาต่อมา) ท่านเห็นความสำคัญของการสร้างคนด้วยการสร้างครู ถ้าครูดีนักเรียนก็ย่อมจะดีด้วย แนวความคิดนี้จะสะท้อนให้เห็นจากบทประพันธ์สั้น ๆ ของท่านบทหนึ่งที่ชื่อว่า สิ้นฝีมือดังนี้

                          ศิลปินสิ้นฝีมือมิสามารถ

                          ที่จะวาดภาพงามกว่านี้ได้

                          คือภาพเด็กที่กำลังเจริญวัย

                          กับครูที่อิ่มในวิทยา

          ในเรื่องของความเป็นครูท่านได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเป็นครูไว้อย่างกระจ่างชัดในบทร้อยกรอง ที่ชื่อว่า การเป็นครู

                          การเป็นครูนั้นไซร้ไม่ลำบาก

                          แต่สอนดีนั้นยากเป็นหนักหนา

                          เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา

                          อีกมีความเมตตาอยู่ในใจ

          คุณสมบัติของครูใน “การสอนดีและมีความเมตตา” นั้น ตัวของท่านเองเป็น “ครู” แบบอย่างที่ดีเยี่ยมจากหนังสือ “รอยเมตตา” ที่คณะศิษย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษารุ่น 76 จัดทำขึ้นเพื่อบูชาในโอกาสฉลองอายุครบ 7 รอบ ของท่าน ดังความในตอนหนึ่งว่า “การพิมพ์หนังสือนี้ก็เพียงเพื่อชักชวนกันย้อนระลึกทบทวนความเมตตาของท่านอาจารย์ อันเป็นความประทับใจอย่างสูงแก่ศิษย์ในด้านต่าง ๆ ในการที่ท่านได้พยายามสร้างเสริมเติมแต่งลูกศิษย์ของท่านให้ดีที่สุด ก่อนที่จะปล่อยออกไปประกอบอาชีพ เพื่อให้บรรลุความสำเร็จในชีวิตการทำงานของตน รสที่ลูกศิษย์แต่ละคนได้รับจากท่านอาจารย์เหมือน ๆ กันหมด คือ รสแห่งความเมตตา  ฉะนั้น ศิษย์ทุกคนจึงระลึกเสมอว่าตนนั้นคือรอยเมตตาของท่านอาจารย์”

ในเรื่องความเมตตาที่ครูพึงมีต่อศิษย์นั้น ท่านได้เขียนคำประพันธ์ไว้อย่างจับใจ ว่า

ภาพการทำงานของ  ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

                     ลูกศิษย์

                          เรียกผู้มาศึกษาว่าลูกศิษย์

                          เออผู้ใดได้คิดบ้างหรือไม่

                          ว่าเป็นศัพท์พิเศษของเทศไทย

                          ยกศิษย์ให้เป็นลูกถูกทำนอง

                          อันมนุษย์น้อยใหญ่ในโลกนี้

                          ย่อมรักลูกไม่มีเสมอสอง

                          เห็นว่าลูกมีค่ากว่าเงินทอง

                          ลูกศิษย์ของครูก็เป็นเช่นนั้นเอย

                          และความดีที่ครูสร้างไว้ จะเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป

                     ความดีไม่เคยตาย

                          ความดีนั้นไม่ตายถ่ายให้ศิษย์

                          ครั้นชีวิตศิษย์มลายหายไปไหน

                          กลายเป็นแก่นกิจการงานทั่วไป

                          ประเทศไทยเฟื่องฟูเพราะครูเอย

          หากมองย้อมกลับไปนับตั้งแต่ท่านจบการศึกษา และเริ่มรับราชการเป็นครูในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณปี พ.ศ. 2475 ตราบจนกระทั่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านได้สั่งสอนคนให้เป็นครู ทั้งยังเป็นประมุขแห่งครูทั้งหลาย

รดน้ำขอพร ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ อาคารหอประชุมใหญ่

          จิตวิญญาณความเป็นครู ในหัวใจของ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ไม่เคยเลือนลับดับหาย แม้ตัวท่านได้จากพวกเราไปแล้ว “เสียงครู” ยังคงติดตรึง กึกก้องอยู่ในมโนสำนึก ให้ดำเนินตามรอยบูรพาจารย์เยี่ยงท่าน

รูปปั้นอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล


เรียบเรียงโดย

ฝ่ายบริหารหอจดหมายเหตุและศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย
สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เอกสารอ้างอิง

รำลึกคุณูปการ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล โดย สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ (2554)
หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล กับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (2539)

ข่าวศิลปวัฒนธรรมล่าสุด


นิทรรศการออนไลน์ เกษียณ เ...

26 พ.ค. 2566
          

นิทรรศการออนไลน์ E- Exhib...

31 มี.ค. 2566
“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน... ถึงจะเรียนศิลปะ”

Galleries Nights เทศกาลจั...

1 มี.ค. 2566
          ก้า