ข่าว หน้าแรก เกี่ยวกับเรา อาคารสถานที่ การประกันคุณภาพ วิชาการและวิจัย ติดต่อเรา

นิทรรศการออนไลน์ ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์

1 มี.ค. 2566





ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์

ภาพจาก Aree Soothipunt Art Foundation

          จากศิษย์ครูอารี สุทธิพันธุ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง ได้เล่าประวัติของครูอารีไว้ว่า ครูอารีเดิมเป็นคนจังหวัดราชบุรี เรียนมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรี  ขณะนั้นมีครูจากประเทศอินเดียมาสอนภาษาอังกฤษ ทำให้ครูอารีมีความสนใจและชอบวิชาภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ หลังจากนั้นเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  ก็มีความสนใจวิชาภาษาอังกฤษเป็นพิเศษเหมือนเดิม ซึ่งต่างจากคนที่เรียนศิลปะโดยทั่วไป คือตัวแปรสำคัญ ครูอารีมีทั้ง 2 อย่างในคนเดียว 1.ครูอารีมีทักษะในการวาดภาพ 2.ความสนใจและชอบภาษาอังกฤษ อีกทั้งครูอารีสนใจในวรรณกรรมของไทย เมื่อยังเด็กครูอารีจะนวดให้ตายายขณะที่นวดก็จะได้ฟังวรรณกรรมต่างๆ จากตายายเล่าให้ฟังเช่นของสุนทรภู่ เรื่องพระอภัยมณี ด้วยเหตุนี้ทำให้ครูอารีต่างจากคนเรียนศิลปะทั่วไป

ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ จบการศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ปี 2500 

          ช่วงระหว่างที่เรียนครูอารีได้ทำงานที่บริษัทเอสสัน เป็นบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบและโฆษณา ครูอารีเป็นช่างศิลป์ที่บริษัทแห่งนี้ หลังจากที่ครูอารีเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่าง เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร มี 4 สาขา 1. สาขาประถมศึกษา 2. สาขามัธยมศึกษา 3. สาขาอาชีวศึกษา 4. สาขาการบริหารการศึกษา ครูอารีเลือกเรียนสาขาอาชีวศึกษาเป็นการเรียนการสอนทางด้านครู ซึ่งระหว่างที่เรียนได้พบกับครูที่เป็นผู้จุดประกายให้ครูอารีเป็นอย่างยิ่งก็คือ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เมื่ออาจารย์สาโรชกลับมาจากอเมริกา มีความคิดในเชิงแบบพิพัฒนาการ (Progressive) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง การจัดการศึกษาต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง จึงเชื่อว่า “แนวทางแห่งความมีอิสระเสรีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง วัฒนธรรมและสังคม” มีแนวคิดโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง Child center ซึ่งเป็นมิติใหม่ทางการศึกษา เป็นการวางรากฐานการศึกษาให้กับวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ซึ่งเป็นการพลิกโฉมหน้าวงการศึกษาไทย ครูอารีกล่าวได้ว่าเป็นศิษย์รักศิษย์เอกของอาจารย์สาโรช ครูอารีจะพูดถึงอาจารย์สาโรชอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง

          หลังจากนั้นครูอารีได้มาทำงานที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ทำงานด้านการออกแบบ ระหว่างที่ทำงานออกแบบก็ได้มีความคิดในเชิงก้าวหน้าอยู่เสมอ โดยได้มีโอกาสเป็นผู้นำต้นฉบับไปให้ครูเหม เวชกร เขียนภาพประกอบเรื่องปัญญากับเรณู ลักษณะการวาดภาพของครูเหมส่วนใหญ่จะเป็นเด็กไว้ผมยาว โดยให้หลวงจี หรือเรียกกันว่า ไมค์ เป็นคนเขียนเรื่อง หลังจากครูอารีลาออกจากกระทรวงศึกษา ครูอารีได้มาเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และมีโอกาสสอบชิงทุนศึกษาต่อที่ Indiana University, U.S.A. เมื่อปี 2502 ครูอารีมีความรู้ด้านภาษาเป็นทุนเดิม อีกทั้งมีความคิดกว้างไกล วิสัยทัศน์ที่จะทำตัวเองให้พัฒนาขึ้นในวงการศึกษาศิลปะ ซึ่งสมัยก่อนน้อยคนที่จะมีวิสัยทัศน์เช่นนี้ ครูอารีสอบติด 1 ใน 3 ของทุน Indiana University, U.S.A เรียนจบภายใน 2 ปี จบการศึกษาปี 2504ปริญญาโท สาขาจิตรกรรม M.F.A. (Painting), Indiana University, U.S.A. ซึ่งคือปรากฎการณ์ทางสังคมในประเทศไทย ที่ครูอารีจะนำศิลปะจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นคนแรกๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากอิตาลีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 – รัชกาลที่7 ประเทศไทยมีศิลปินจากอิตาลีหลายคน ครูอารี ได้นำศิลปะแนว Abstact Expressionism เข้ามาในปี 2504 และได้จัดนิทรรศการที่ AUA ครูอารี และอาจารย์สาโรช บัวศรี ช่วยกันปลุกปั้นจนเกิดสาขาวิชาศิลปศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยในปี 2511 อาจจะบอกได้ว่าตีคู่มากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ เมื่อเปิดสาขาวิชาศิลปศึกษาขึ้นมา ศิษย์รุ่นแรกที่เรียนประมาณ 10 กว่าคน ศิษย์เอกครูอารี มีครูวิรุณ ตั้งเจริญ ครูสุพจน์ โตนวล ครูนพศร ณ นครพนม และครูวิสา เดชศรี ปี 2511 ครูอารีเป็นผู้สอนวิชาศิลปศึกษาโดยคนที่เรียนนั้นล้วนแล้วแต่มาจากต่างจังหวัด ได้แก่ราชภัฏ 42 แห่ง ลูกศิษย์ครูอารีทั้งนั้นที่มารับหลักการการสอนแบบยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child center) ซึ่งสมัยก่อนเราสอนวาดรูปให้เด็กมักเขียนตามครู เช่น ขีดเส้นตรง 1 เส้นตรงกลางกระดานดำ วาดภูเขา 3 ลูก ต้นมะพร้าว 1 ต้น มีดวงอาทิตย์ขึ้น นกบิน 3 - 4 ตัว ส่วนใหญ่ จะสอนเด็กวาดภาพวิวทิวทัศน์แบบนี้และให้เด็กทำตาม ไม่ได้ใช้หลักการ คือ Child center การเรียนรู้โดยที่เด็กเป็นศูนย์กลาง ครูอารีสอนแบบ Child center เด็กเป็นศูนย์กลางครูเป็นเพียง ผู้จุดประกาย เอาความคิดเด็กว่าเด็กคิดอะไร เป็นการเปลี่ยนการสอนที่ครูเอาความคิดครูเป็นหลักว่าต้องทำและคิดแบบนี้ถึงจะได้เกรด A ครูอารีสอนเด็กแบบนี้จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2534

ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ และนิสิตปริญญาโท ศิลปศึกษา รุ่น 1

          จุดเปลี่ยนหลังจากที่ครูอารีอายุครบ 60 ปี ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ซึ่งกำลังจะก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ได้เชิญผม (รองศาสตราจารย์ดร.สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง) ให้มาเป็นอาจารย์ที่ มศว และ อาจารย์พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ (รองศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มศว) ซึ่งมาจากคณะมนุษยศาสตร์ และดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ให้ผมเป็นประธานจัดงานนิทรรศการ 60 ปี อารี สุทธิพันธุ์ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนในการตั้งราคาภาพของครูอารีเกิดการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ในปี 2535 งาน 60 ปี อารี สุทธิพันธุ์ ณ โรงแรมมณเฑียร รูปที่ครูอารีวาดภาพสีน้ำ ภาพนู้ด ราคาภาพละ 20,000 บาท หักประมาณ 35% เหลือเงินประมาณ 10,000 กว่าบาท เป็นการแบ่งรายได้ ให้กับสภากาชาดไทย และ มูลนิธิอารี สุทธิพันธุ์ แต่มีภาพสีน้ำมันที่ผมเอามาจากบ้านครูอารี ซึ่งครูอารีใช้คำว่า Not for sale คือไม่ขาย แต่ประธานเปิดงานนิทรรศการชอบอยากได้ภาพสีน้ำมันที่ครูอารีไม่ขาย ผมจึงปรึกษากับครูวิรุณ หลังจากได้ปรึกษากันแล้วภาพนั้นจึงถูกตั้งขึ้นในราคา 50,000 บาท ขนาดภาพประมาณ 50x50 เซ็นติเมตร นั่นคือ จุดเปลี่ยนและจุดเกิดของครูอารี ภาพนู้ด และภาพสีน้ำมัน ราคาภาพละ 50,000 บาททุกภาพ และบางภาพราคาภาพละ 70,000 – 80,000 บาท เป็นราคาภาพที่เกิดจากงาน 60 ปีอารี สุทธิพันธุ์ หลังจากนั้น มีการจัดแสดงผลงานเรื่อยมา ทำให้มีผู้สนใจภาพและได้ซื้อภาพจำนวนมาก 1 ในนั้นคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ซื้อผลงานภาพนู้ด จำนวน 10 ภาพ ขนาดภาพประมาณ 80x70 เซ็นติเมตร ในราคาภาพละ 75,000 บาท ครูอารีเข้าสู่วงการศิลปะอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ครูอย่างเดียวแล้ว เป็นศิลปินเต็มตัว เขียนรูปจัดแสดงผลงาน ต่างคนต่างเติบโต ผมและครูอารีก็เติบโต แต่เติบโตคนละวัย คนละสายงาน แต่ว่าเราก็ไปด้วยกันผมก็แสดงผลงาน ครูอารีก็แสดงผลงาน ก็เกิดมาจากตรงนี้

นิทรรศการ 60 ปี อารี สุทธิพันธู์ พ.ศ. 2535 ณ โรงแรมมณเฑียร

          ในปี 2555 ช่วงที่ผมเป็นประธานมูลนิธิอารี สุทธิพันธุ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว มอบให้มูลนิธิอารี สุทธิพันธุ์เสนอชื่อครูอารี เป็นศิลปินแห่งชาติ เรียกว่าเป็นจังหวะของคนเรา ไม่ว่าท่านอาจารย์เครือข่ายในคณะต่างๆ หรือใครๆ ต่างก็ให้การสนับสนุน ส่งเสริม อาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการร่วม ไม่ว่าสาขาดนตรี สาขาศิลปะ และสาขาศิลปะการแสดง ท่านพูดว่า ครูอารี มีผลงานหนังสือสูงท่วมหัว หลังจากไม่มีเสียงคัดค้าน ก็เสนอส่งชื่อครูอารี สุทธิพันธุ์ ให้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ และในปี 2555 ครูอารีได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กลุ่มวิจิตรศิลป์ ด้านจิตรกรรม พร้อมกับเป็นครูศิลปะจนมาถึง ณ วันนี้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2555

ส่วนหนึ่งของผลงานหนังสือของครูอารี สุทธิพันธุ์

          สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือของศาสตราจารย์พิเศษอารี  สุทธิพันธุ์ ทางสถาบันฯได้รวบรวมหนังสือของอาจารย์อารีไว้ในรูปแบบลิ้งก์ ผู้ที่สนใจสามารถคลิกที่ลิ้งก์บนชื่อหนังสือ เพื่อเข้าระบบยืมหนังสือของหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้

ภาพหน้าปกหนังสือของศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์

ชื่อหนังสือ       ศิลปนิยม

ปีที่พิมพ์       พ.ศ.2526,2535

จัดพิมพ์ที่       โรงพิมพ์วัฒนาพานิช

 

ชื่อหนังสือ       การวาดเขียน DRAWING

ปีที่พิมพ์       พ.ศ.2528

จัดพิมพ์ที่       ห้างหุ้นส่วนจำกัดการพิมพ์

 

ชื่อหนังสือ       นิทรรศการทัศนศิลป์ เกียรติคุณ 60 ปี อารี สุทธิพันธุ์

ปีที่พิมพ์       พ.ศ.2535

จัดพิมพ์ที่       แสงเทียนการพิมพ์

 

ชื่อหนังสือ       ศิลปะและพื้นที่

ปีที่พิมพ์       พ.ศ.2543

จัดพิมพ์ที่       สันติศิริการพิมพ์

หัวข้อในหนังสือ       ภาพลักษณ์คนในทัศนศิลป์ หน้า 70

 

ชื่อหนังสือ       ศิลปะ: อนาคต

ปีที่พิมพ์       พ.ศ.2544

จัดพิมพ์ที่       สันติศิริการพิมพ์

หัวข้อในหนังสือ       สงสัยนักเหรอ หน้า 34

 

ชื่อหนังสือ       สวะความคิด

ปีที่พิมพ์       2553

จัดพิมพ์ที่       บริษัท  พริ้นโพร  จำกัด

 

ครูอารี ในมุมมองของลูกศิษย์

ภาพจาก Aree Soothipunt Art Foundation

ความเป็นครูศิลปะ

        ครูอารีผู้ปลุกจิตวิญญาณศิลปะให้กับนักเรียน พร้อมสอดแทรกวิธีคิด และคำถามที่จะให้ผู้เรียนเกิดความสนุก กล้าที่จะแสดงออก ครูอารีมีแนวคิดในการสอนศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจาก จอห์น  ดิวอี้ ในรูปแบบการเรียนการสอนจากประสบการณ์จริง ลองผิด ลองถูก เกิดการค้นคว้าแก้ปัญหา สิ่งที่ได้คือ ประสบการณ์ และนำไปสู่ ความรู้ ที่ตามมาอย่างลึกซึ้งผ่านรูปแบบการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ (Learning by doing) ครูสมยศ  คำแสง เป็นผลผลิตที่ได้รับการเรียนรู้จากครูอารี จะเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยเรียนกับครูอารีมาให้ชม  (คลิก...เพื่อชมคลิปสัมภาษณ์ครูอารี ครูสอนศิลปะ โดย อาจารย์สมยศ คำแสง)

 อาจารย์สมยศ คำแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยเพาะช่าง 

ความเป็นศิลปิน

        ความเป็นศิลปินของครูอารีไม่ต่างอะไรจากความเป็นครูศิลปะเท่าไหร่นัก เนื่องจากครูอารีมีแนวคิดและปฏิบัติตามทฤษี ที่ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านมา 92 ปี แล้ว ครูอารียังทันสมัยตามโลก เทคโนโลยีและปรับตัวเข้ากับคนรุ่นหลังได้อย่างดี นั้นเป็นเหตุให้ความเป็นศิลปินของครูอารีไม่ย้ำอยู่กับที่ ครูมณเฑียร  เรียบเรียง อีกหนึ่งของผลผลิตที่ครูอารีสอนมา และยังติดตามคอยช่วยเหลือครูอารีในการสอน เผยแพร่ความรู้ด้านศิลปะอยู่จนปัจจุบัน จะมาเล่าให้ฟัง (คลิก...เพื่อชมคลิปสัมภาษณ์ความเป็นศิลปินของครูอารี โดย อาจารย์มณเฑียร เรียบเรียง)

ครูมณเฑียร เรียบเรียง  ครูประจำโรงเรียนดอนคาวิทยา จังหวัดสุพรรณบุรี 

อุปนิสัย

        ครูอารีมีความมุ่งมั้น แน่วแน่ ที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดคนโดยเฉพาะในวงการศึกษา ทั้งความรู้ แนวการสอน วิธีคิด วิธีปฏิบัติ จึงทำให้ครูอารีเป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมาจึงอาจทำให้ถูกใจบางคนไม่ถูกใจบางคน แต่ในเนื้อแท้แล้วครูอารีเป็นคนที่รักและห่วงใยลูกศิษย์เสมอ โดยรองศาสตราจารย์ ดร สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง จะเล่าประสบการณ์ทั้งในฐานะความเป็นศิษย์ และบุคคลใกล้ชิด (คลิก...เพื่อชมคลิปสัมภาษณ์อุปนิสัยของครูอารี โดย รองศาสตราจารย์ ดร สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง)

รองศาสตราจารย์ ดร.สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว

ศิลปะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร

        ศิลปะที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมได้นั้น ต้องเป็นศิลปะตามประสบการณ์ แยกออกเป็น

1. ประสบการณ์ตรง คือ ศิลปะที่เราเจอปะทะตามตาเห็น

2. ประสบการณ์รอง คือ สิ่งที่ได้มาจากการบอกเล่า อ่านมา

        ครูอารีได้เล่าถึงสมัยเรียนที่โรงเรียนวิชาการศึกษา ประสานมิตร สมัยอาจารย์สาโรช  บัวศรี ว่าได้เปลี่ยนแนวคิดการศึกษาจากเดิมหลายประการ โดยคำสอนในช่วงนั้นมีหลายคำ เช่น

        “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม”

        “การเรียนคู่กับการปฏิบัติ (Learning By Doing)”

        ครูอารีได้ตกผลึก เรื่องการศึกษาจากประสบการณ์และที่ได้เรียนรู้มาโดยตลอด ท่านได้ให้ความเห็นว่า ความรู้ (Knowledge) ยังไม่เพียงพอไม่ลึกซึ้ง แต่ต้องใช้คำว่า มีวินัย มีระเบียบ การฝึกฝน (Discipline) และท่านแบ่งสังคมกับวัฒนธรรมออกมา 4 สังคม เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

ข้อคิดถึงครูศิลปะรุ่นใหม่

        “ครูศิลปะนั้นเป็นครูทฤษฎีเก่าหรือทฤษฎีใหม่ Child Center หรือ Teacher Center ครูรุ่นเก่าเริ่มที่ครูครูรุ่นผมเริ่มที่นักเรียน ครูอารีนำเอาทัศนศิลป์ (Visual art) เป็นศิลปะที่เห็นตามที่คิด ไม่ใช่เห็นตามที่เชื่อความงามต้องวัดได้ ถ้าแบบเดิมวัดไม่ได้”

(คลิก...เพื่อชมคลิปสัมภาษณ์ศิลปะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรและข้อคิดจากศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์)

ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ ณ บ้านพัก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566

เชิญรับชมนิทรรศการออนไลน์ 3D ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์

          นิทรรศการออนไลน์นี้ทางสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ ได้นำผลงานศิลปะทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งสิ้น 24 ผลงาน ด้วยกระบวนการสร้างสรรผลงานศิลปะผ่าน 4 เทคนิค อาทิ สีน้ำ, สีน้ำมัน, สีอะคริลิค, และนวการลาก โดย ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์

 

          สามารถรับชมนิทรรศการออนไลน์ ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ 3D ได้ที่ ลิงก์นี้

หมายเหตุ : ท่านสามารถรับชมนิทรรศการออนไลน์บนมือถือ ด้วยแอพพลิเคชั่น Spatial

IOS : https://apps.apple.com/

Android : https://play.google.com/

 


ขอขอบคุณ

1. มูลนิธิอารี  สุทธิพันธุ์ (Aree Soothipunt Art Foundation)

2. ศาสตราจารย์พิเศษอารี  สุทธิพันธุ์

3. รองศาสตราจารย์ ดร.สาธิต  ทิมวัฒนบรรเทิง

4. อาจารย์สมยศ  คำแสง

5. อาจารย์ดร.พิบูลย์  มังกร

6. ครูมณเฑียร  เรียบเรียง

7. คุณธารทิพย์  ส่งอุบล

จัดทำโดย

สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ข่าวศิลปวัฒนธรรมล่าสุด


นิทรรศการออนไลน์ E- Exhib...

31 มี.ค. 2566
“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน... ถึงจะเรียนศิลปะ”

Galleries Nights เทศกาลจั...

1 มี.ค. 2566
          ก้า

นิทรรศการออนไลน์ SWU Arti...

3 ม.ค. 2566
ขอเชิญรับชมนิทรรศการออนไลน์ SWU Artists Exhibition 3D พบกับ